ราคาน้ำมันลด กระทบผลประกอบการธุรกิจน้ำมันและโรงกลั่น ไตรมาส 3

301
- Advertisment-

ผลประกอบการธุรกิจน้ำมันและโรงกลั่น รอบ 9 เดือน ในไตรมาส 3/2567 สะเทือน หลังราคาน้ำมันโลกลดต่ำ และเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ส่งผลกระทบโรงกลั่นไทยออยล์ ขาดทุน 4,218 ล้านบาท ขณะค่ายน้ำมัน OR เผยกำไรลดลง 57.3% เตรียมทบทวนความเหมาะสมของ Investment portfolio ด้านค่ายน้ำมันบางจาก โชว์ยอดขายโตก้าวกระโดด ขณะผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกำไรพุ่ง

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) ได้สรุปภาพรวมธุรกิจพลังงาน น้ำมันและโรงกลั่นในการประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2567 ช่วง 9 เดือน พบว่า ปัจจัยราคาน้ำมันโลกปรับลดลง และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของค่ายน้ำมันรายใหญ่ทั้ง OR และไทยออยล์ ขณะที่ค่ายพลังงานอื่นๆ ยังปรับตัวดันธุรกิจเติบโตได้ เช่น ค่ายน้ำมันบางจาก ทำยอดจำหน่ายน้ำมันโตก้าวกระโดด ขณะ CKP ผู้นำการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน กำไรพุ่งรับอานิสงส์โครงการน้ำงึม 2 ผลิตไฟฟ้าเพิ่ม หลังพายุเข้าช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน โดยผลประกอบการในรอบ 9 เดือนของแต่ละบริษัทที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงไตรมาส 3/2567 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้

“ไทยออยล์” ขาดทุนสุทธิ 4,218 ล้านบาท
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP
กล่าวว่า ในไตรมาส 3/2567 กลุ่มไทยออยล์ขาดทุนสุทธิ 4,218 ล้านบาท สาเหตุจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันช่วงฤดูกาลขับขี่ในประเทศสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีอุปทานเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นน้ำมันใหม่ ทำให้ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และประเทศจีนยังคงอ่อนแอ

- Advertisment -

ในส่วนธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับตัวลดลงเช่นกันจากส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนกับน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับลดลงจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจภายในประเทศจีนที่ยังคงเปราะบาง นอกจากนี้ธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาดปรับลดลงเล็กน้อยจากอุปสงค์ที่ถูกกดดันในช่วงฤดูมรสุมในประเทศอินเดีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ธุรกิจผลิตน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานปรับตัวดีขึ้นจากต้นทุนราคาน้ำมันเตาที่ลดลง
ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3/2567 ปรับลดลงจากราคาเฉลี่ยในไตรมาส 2/2567 เนื่องจากตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศจีนต่ำกว่าคาดการณ์ รวมถึงการหดตัวของภาคการผลิต (PMI) ในประเทศสหรัฐฯ และจีน ทำให้อุปสงค์น้ำมันโลกเติบโตในระดับจำกัด ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 5,380 ล้านบาท หรือ 5.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันลดลง 7.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากไตรมาส 2 ของปี 2567

OR มีกำไรลดลง 57.3%
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR
เปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนของปี 2567 OR มีกำไรสุทธิ 4,651 ล้านบาท ลดลง 57.3% มีรายได้จากการขายและบริการ 538,054 ล้านบาท ลดลง 39,024 ล้านบาท หรือลดลง 6.8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ากลุ่มธุรกิจ Mobility จะมีผลประกอบการอ่อนตัวลงตามสภาพการแข่งขันและแนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง แต่กลุ่มธุรกิจ Lifestyle ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีรายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้น 1,316 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้นของทั้งธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่มและธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ และมี EBITDA จำนวน 12,779 ล้านบาท ลดลง 5,904 ล้านบาท หรือลดลง 31.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงจากกลุ่มธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Global ที่ภาพรวมมีผลประกอบการที่อ่อนตัวลงจากราคาน้ำมันในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม EBITDA ของกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ปรับเพิ่มขึ้นจากธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายพิเศษ (Extra Item) เนื่องจากการยุติธุรกิจเท็กซัส ชิคเก้น โดย OR มีเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่มรวม 4,462 สาขา ไม่ว่าจะเป็น Café Amazon, Pearly Tea และ Pacamara Coffee Roasters โดย Café Amazon มีปริมาณจำหน่าย 9 เดือน รวม 299 ล้านแก้ว เพิ่มขึ้น 8.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดยอดปริมาณจำหน่ายไว้ 1 ล้านแก้วต่อวัน

ทั้งนี้ ด้วยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ OR ต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เหมาะสม เพื่อให้ทุกการตัดสินใจลงทุน ยังได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม โดยปัจจุบัน OR อยู่ระหว่างการประเมินทบทวนความเหมาะสมของ Investment portfolio เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง โดยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา OR ได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ และได้พิจารณาที่จะยุติการดำเนินธุรกิจเท็กซัส ชิคเก้น และขายหุ้นทั้งหมดในบริษัท อิ่มทรัพย์ โกลบอล คูซีน จำกัด ซึ่งเกิดผลขาดทุนและค่าใช้พิเศษที่เกี่ยวข้อง (Extra Item) รวม 552 ล้านบาท และเชื่อมั่นว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว

โรงกลั่น SPRC

SPRC ขาดทุนสุทธิ 64 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

ด้านบริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC รายงานว่าบริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปรียบเทียบกับผลกำไรสุทธิ 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โดยค่าการกลั่น SPRC ของในไตรมาสที่ 3/2567 อยู่ที่ 4.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจาก 2.36 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาสที่ 2/2567 และอัตราการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 157,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 90 ของกำลังการกลั่น

สำหรับผลการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกของปี 2567 SPRC มีกำไรสุทธิรวม 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายได้รวมของบริษัทฯ ใน 9 เดือนแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ที่ผ่านมาโดยเป็นผลจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่สูงกว่าและยอดขายที่เพิ่มขึ้น


บางจาก จำหน่ายน้ำมันโตก้าวกระโดด
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 ที่สร้างสถิติใหม่ของรายได้จากการขายและการให้บริการ รวม 447,631 ล้านบาท เติบโตกว่า 84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดจำหน่ายน้ำมันเติบโตก้าวกระโดดกว่า 10,000 ล้านลิตร และกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างสถิติรายได้สูงสุดจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น มี EBITDA 33,499 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 2,168 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.30 บาท และมีการรับรู้ Inventory Loss (รวม NRV) 4,683 ล้านบาท หรือ 1.88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากค่าการกลั่นพื้นฐานและราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง แต่คาดว่าบริษัทจะมีรายได้ทั้งปีบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้มากกว่า 500,000 ล้านบาท

โดยตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ภายหลังจากการได้มาซึ่งบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 กลุ่มบริษัทบางจากประสบความสำเร็จในการสร้าง Synergy เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการรับรู้ Synergy ให้บริษัทฯ มียอดสะสมสูงถึง 4,400 ล้านบาทภายใน 9 เดือนแรกของปี 2567 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2,500 ล้านบาทอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกลยุทธ์ที่กลุ่มบริษัทบางจากได้วางไว้ และสร้างความมั่นใจในการปรับเป้าหมาย Synergy ใหม่ให้สูงขึ้นเป็น 5,000 ล้านบาทในปี 2567 และ 5,500 ล้านบาทในปี 2568 และในปีถัด ๆ ไป

CKP กำไรพุ่งจากยอดขายไฟฟ้าโครงการน้ำงึม 2
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP
เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานโดยรวมทั้งในไตรมาส 3/2567 และงวด 9 เดือนปี 2567 ที่แข็งแกร่งและมีความมั่นคงทางการเงิน โดยในไตรมาส 3 มีรายได้รวม 2,901.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% ขณะที่งวด 9 เดือนของปี 2567 มีรายได้รวม 8,012.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) อยู่ที่ 29.6% เพิ่มขึ้น 8.0% รวมถึงมีอัตรากำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) อยู่ที่ 44.4% เพิ่มขึ้น 7.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนของปี 2567 นี้ มาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าของ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด (NN2) ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 32.5% และ 42.2% ตามลำดับ จากปรากฎการณ์ลานีญาและอิทธิพลจากพายุยางิที่ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะในเดือน ก.ย. 2567 ส่งผลให้ NN2 สามารถประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้มากขึ้น นอกจากนี้ค่าเชื้อเพลิงของบริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (BIC) ยังลดลงตามสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติอีกด้วย

BSRC ชี้รายได้ 9 เดือน เพิ่มถึง 1.7 หมื่นล้านบาท
นายบัณฑิต หรรษาไพบูลย์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน)
กล่าวว่า เนื่องจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ผันผวนและปัจจัยกดดันด้านราคาพลังงานช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้ในไตรมาสที่ 3 ลดลงมาอยู่ที่ 57,564 ล้านบาท แต่ด้วยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและความพยายามในการเพิ่มปริมาณการกลั่นและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้สูงสุด ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงรักษาระดับยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้สูงตลอดทั้งปี ทำให้ภาพรวมรายได้ 9 เดือน เพิ่มขึ้นถึง 17,115 ล้านบาท นอกจากนี้ ผลจากความสำเร็จในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรจากตราสารอนุพันธ์รวม 9 เดือน ที่จำนวน 980 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานที่สำคัญในไตรมาส 3 ปี 2567
ธุรกิจโรงกลั่น : ปริมาณน้ำมันดิบที่นำเข้ากลั่นที่โรงกลั่นศรีราชาในไตรมาส 3 อยู่ที่ 137,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงจากไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากมีการหยุดดำเนินการโรงกลั่นบางส่วนตามแผนการซ่อมบำรุงของบริษัทฯ เป็นเวลา 22 วัน ซึ่งสำเร็จลุล่วงเมื่อปลายเดือน ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นศรีราชายังสามารถรักษาอัตราการผลิตเฉลี่ย 9 เดือน ปี 2567 ได้ในระดับสูงถึง 147,000 บาร์เรลต่อวัน และยังประสบความสำเร็จในการเพิ่มช่องทางการขายผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลสำหรับเรือเดินสมุทร (Marine Gas Oil) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้นด้วย

ธุรกิจการตลาด : บริษัทฯ เดินหน้าปรับภาพลักษณ์สถานีบริการน้ำมันเป็นแบรนด์บางจาก ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2567 เสร็จสิ้นทั้งหมด 656 แห่ง หรือ 90% ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมมุ่งเน้นกลยุทธ์การขายผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นแบบ Direct Sales ที่ลูกค้าสามารถซื้อตรงผ่านหน้าสถานีบริการน้ำมันได้ จากเดิมขายผ่าน Distributor ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสการให้บริการลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

BCPG ประกาศผลดำเนินงาน 9 เดือน โต 29.6%
นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน 9 เดือนของปี 2567 กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรสุทธิที่ 1,656 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.6% สำหรับงวดไตรมาส 3 ปี 2567 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,125 ล้านบาท สูงขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2567 ถึง 3.8% จากปัจจัยสำคัญๆ ได้แก่ รายได้ที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป. ลาว เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาล (High Season) ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลัง และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของโครงการคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือในประเทศไทย ที่กลุ่มบริษัทฯ ได้เข้าซื้อกิจการตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2566 ซึ่งรายได้ที่กล่าวถึงสามารถชดเชยรายได้ที่ลดลงจากอัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) ที่หมดไป และจากการขายโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีการเติบโตสูงขึ้นเช่นกัน จากการจัดการแผนการซ่อมบำรุงที่มีประสิทธิภาพในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง กล่าวคือ มีกำไรจากการดำเนินงานปกติที่ 453 ล้านบาท หรือเติบโตถึง 356% จากไตรมาสที่ 2/2567

Advertisment