5 เรื่องเด่นพลังงาน ในรอบปี 2566

847
- Advertisment-

ตลอดปี 2566 เป็นปีที่ทิศทางราคาพลังงานยังผันผวนอยู่ในระดับสูง ทั้งราคาค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมัน โดยภาระหนี้ที่ กฟผ.แบกรับไว้แทนประชาชนตั้งแต่ปลายปี 2564 ยังคงเหลือค้างจ่ายอยู่ในระดับเกินแสนล้านบาท ในขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ยังคงมีฐานะที่ติดลบมากกว่า 7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากกระทรวงพลังงานปรับลดระดับเพดานราคาดีเซลกลับลงมาอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่มีคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากในยุคของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ราคาดีเซลเคยถูกยกระดับเพดานขึ้นไปจนถึงระดับ 35 บาทต่อลิตร ก่อนที่จะขยับลดลงมาเป็นไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร  แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่ถูกกระชากลงมาเหลือไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้มาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตลงชั่วคราวนั้น ยังไม่มีผลทำให้ราคาค่าโดยสาร ราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่ปรับขึ้นไปตามต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลก่อนหน้านี้ ปรับลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญ    

มาตรการปรับลดราคาพลังงานโดยที่ยังมีภาระหนี้คงค้างเหลืออยู่ในระดับสูงในปี 2566  จึงเป็นเพียงการยื้อเวลาภาระที่ต้องไปออกผลในปี 2567

- Advertisment -

ศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy  News Center -ENC ) รวบรวมเรื่องพลังงานที่มีความโดดเด่นไว้ 5 เรื่องในรอบปี2566 เพื่อให้ผู้อ่านที่ติดตามการรายงานข่าวของเรา ได้ทบทวน กันอีกรอบ ดังนี้

1.รัฐบาลลดภาระค่าครองชีพ ลดดีเซลเหลือ 30 บาทต่อลิตรแต่ราคาสินค้ายังไม่ลดลงตาม

ราคาดีเซลเคยขยับเพดานขึ้นไปจากเดิม 30 บาทต่อลิตรเป็นไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยราคาน้ำมันดิบโลกไปแตะสูงสุดเฉลี่ยที่ 135.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อเดือน พ.ย. 2565  อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่เดือน มกราคม 2566 ราคาน้ำมันโลกเฉลี่ยเริ่มทยอยลดลงเหลือ 116.12 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หลังจากทั่วโลกพยายามแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง เป็นผลให้ กบน.ตัดสินใจปรับลดราคาดีเซลลง 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยจากราคา 34.94 บาทต่อลิตร เหลือ 34.44 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นการปรับลดราคาดีเซลครั้งแรกในรอบ 7 เดือน และหลังจากนั้นก็มีการปรับลดราคาลงทุกเดือน ครั้งละ 50 สตางค์ต่อลิตร รวม 5 ครั้ง ลดลงได้ 2.50 บาทต่อลิตร โดยการปรับลดราคาดีเซลครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ราคาดีเซลเหลือ 32.94 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันโลกก็ปรับลดลงต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เหลือประมาณ 97.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

รัฐบาลลดภาระค่าครองชีพช่วยประชาชนด้วยการตรึงราคาดีเซลเอาไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ราคาสินค้ายังไม่ได้ปรับลดลงตามราคาน้ำมันที่ลดลง

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาภาครัฐพยายามยกเลิกการตรึงราคาดีเซล 30 บาทต่อลิตร ที่ใช้มากว่า 10 ปี โดยเมื่อราคาน้ำมันโลกขยับสูงถึงขั้นเป็นวิกฤติราคาน้ำมันโลก ก็เป็นโอกาสให้ภาครัฐปรับฐานราคาดีเซลใหม่มาอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อลิตร ทั้งนี้เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ ที่อยู่ในสถานะติดลบกว่า 8 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลเมื่อเดือน พ.ค.  2566)

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล จากรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็มีการดำเนินนโยบายลดค่าครองชีพให้ประชาชนตามที่หาเสียงเอาไว้  โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกของรัฐบาลนายเศรษฐา ได้ประกาศปรับลดราคาดีเซลลงจากไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร เหลือไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ด้วยวิธีการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลงชั่วคราวจาก 5.99 บาทต่อลิตร ลง 2.50 บาทต่อลิตร 20 กันยายน- 31 ธันวาคม 2566 นี้  และในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ก็มีมติให้ขยายระยะเวลาการตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 3 เดือน จนถึงเดือนมีนาคม 2567  


กลุ่มผู้ขับรถมอเตอร์ไชค์ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีสรรพสามิตกลุ่มเบนซิน ที่ทำให้ราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ปรับลดราคาลง 2.50 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน

อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นข่าวดีตั้งแต่เริ่มต้นปี 2566 ที่ประชาชนได้ลดราคาน้ำมันดีเซลลง และลดลงมากขึ้นอีกในรัฐบาลเศรษฐา แต่เมื่อไปติดตามดูราคาสินค้า ค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ที่เคยอ้างการปรับขึ้นราคาไปในช่วงที่ดีเซลมีราคา 35 บาทต่อลิตร แต่เมื่อราคาดีเซลปรับลดลงมาเหลือไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมทั้งรัฐบาลเพิ่งมีนโยบายปรับลดราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตรโดยใช้การลดภาษีสรรพสามิตมาช่วยเป็นระยะเวลา 3 เดือน แต่ผู้ประกอบการยังไม่ได้มีการปรับลดราคาสินค้าลงมาตามสัดส่วนราคาน้ำมันที่ลดลงเลย  นโยบายการลดภาระค่าครองชีพช่วยประชาชนด้วยการลดราคาน้ำมัน จึงไม่ส่งผลอย่างที่ควรจะเป็น

2.ค่าไฟฟ้าต้นทุนพุ่ง กฟผ.ช่วยแบกภาระหนักแทนประชาชน

ตลอดทั้งปี 2566 ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นไม่หยุด โดยราคาที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศออกมาทุกๆ 4 เดือน มีราคาเกิน 4 บาทต่อหน่วยทุกครั้ง โดยปัจจัยหลักมาจาก 2 ส่วน คือ ต้นทุนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกสูงขึ้น และภาระหนี้ค่า Ft ค้างจ่ายที่ต้องทยอยคืนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 

ทั้งนี้นับตั้งแต่เดือน กันยายน 2564- เมษายน 2566 กฟผ.ได้แบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนไปก่อนรวมเป็นเงินสูงถึง 150,268 ล้านบาท ก่อนที่จะได้รับการทยอยจ่ายคืน  โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้า Ft  งวดเดือน มกราคม-เมษายน 2567 ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับขึ้นจาก 3.99 บาทต่อหน่วย เป็น 4.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง นั้น ทำให้ กฟผ.ประเมินว่าภาระค่า Ft ค้างจ่ายที่ต้องแบกไว้ก่อน ในปี 2567 จะอยู่ที่ 137,000 ล้านบาทและจะเริ่มทำให้ กฟผ.มีปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน หากรัฐไม่มีมาตรการอื่นใดเข้ามาช่วยเหลือ

การตรีงราคาค่าไฟฟ้า ที่ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงทำให้ กฟผ.ต้องช่วยแบกรับภาระต้นทุนแทนประชาชนไปก่อน

ย้อนดูการปรับค่าไฟฟ้า Ft ในแต่ละงวด มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1.งวดเดือน มกราคม-เมษายน  2566 กกพ. ประกาศค่าไฟฟ้าเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มบ้านอยู่อาศัย และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม โดยบ้านอยู่อาศัย มีราคาค่าไฟฟ้ารวม 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ราคา 5.33 บาทต่อหน่วย  ซึ่ง ครม. ก็มีมติให้ใช้งบกลาง เข้ามาช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กลุ่มครัวเรือน รวมเป็นเงิน 7,500 ล้านบาท

 2.งวดเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2566 กกพ.ประกาศค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย ซึ่งในครั้งนี้ทั้งกลุ่มบ้านอยู่อาศัยและกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมกลับมาใช้ราคาเดียวกัน จากนั้น กกพ. ก็ออกมาประกาศลดค่าไฟฟ้าอีกรอบเหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย ขณะที่ ครม.ก็นำงบกลางปี 2566 เข้ามาช่วยลดค่าไฟฟ้าอีกครั้งรวมเป็นเงิน 10,464 ล้านบาท   เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาคอุตสาหกรรม ได้ลดค่าไฟฟ้าลง ถึง 63 สตางค์ต่อหน่วยจากงวดก่อนหน้า

3.งวดสุดท้ายปี 2566 ในเดือน กันยายน-ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นงวดที่อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเศรษฐา อย่างเต็มรูปแบบ กกพ.มีการประกาศค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย แต่ ครม.มีมติให้ปรับลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยลงมาเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามที่ กกพ.คำนวณ  ทำให้ กกพ.ต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ในมาตรา 64 มาตรา 69 และ ประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ในข้อ 11 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่มีการตั้ง กกพ.มา เพื่อปรับลดค่าไฟฟ้าให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ เดือนกันยายน -ธันวาคม 2566 โดยให้ทั้ง กฟผ.และ ปตท.มาร่วมกันแบกรับส่วนต่างต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นไปก่อน    

ภาะค่า Ft ค้างจ่ายที่ต้องทยอยคืนให้ กฟผ. จะทำให้ค่าไฟฟ้าตลอดทั้งปี 2567 มีแนวโน้มที่จะต้องปรับเพิ่มสูงขึ้น

3. การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน Big Lot รวมกว่า 8.8 พันเมกะวัตต์ ที่ยืดเยื้อ

โครงการไฟฟ้าสีเขียว หรือ “โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” เป็นโครงการที่ภาครัฐต้องการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพื่อนำไปขายให้กับผู้ที่ต้องการใช้หรือขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นเครื่องยืนยันการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและลดการกีดกันทางการค้าในต่างประเทศ

โครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก และก็มีปัญหาเกิดขึ้นมากเช่นกัน ซึ่ง กกพ. ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้ามาตั้งแต่ 4 ตุลาคม 2565 และมาประกาศผลผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการขายไฟฟ้าสีเขียวเมื่อเดือน เม.ย. 2566 แม้จะมีผู้สนใจจำนวนมาก แต่การกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครอย่างเข้มงวด ทำให้มีผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการเพียง 175 ราย ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 4,852.26 เมกะวัตต์ ไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5,203 เมกะวัตต์

โครงการดังกล่าวเปิดรับซื้อไฟฟ้าทั้งโซลาร์ฟาร์ม, โซลาร์ฟาร์มรวมกับแบตเตอรี่ , ลม และก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียและของเสีย ผลปรากฏว่า ไม่มีผู้ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพสนใจเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเห็นว่าราคารับซื้อไฟฟ้าที่ 2.07 บาทต่อหน่วย ต่ำเกินไป จึงเก็บไว้รอการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการอื่นของภาครัฐแทนเพื่อหวังราคาที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ในส่วนของไฟฟ้าจากพลังงานลม ก็ได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ไม่ผ่านการคัดเลือกได้ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ส่งผลกระทบทำให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก 22 ราย รวม 1,490.20 เมกะวัตต์ ไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้จนถึงขณะนี้

ทั้งนี้เมื่อโครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวปิดเฟส 1 ไม่ได้ ทำให้กระทบไปสู่โครงการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว เฟส 2 ที่ประกาศจะเปิดรับซื้อ 3,668.5 เมกะวัตต์ ในปลายปี 2566 นี้ ต้องเลื่อนออกไปด้วย เพื่อรอให้เฟสแรกเสร็จสิ้นกระบวนการอย่างสมบูรณ์ก่อน จึงจะเปิดเฟส 2 ได้ ซึ่ง กกพ. คาดว่าน่าจะเปิดได้ในปี 2567 นี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการรับซื้อไฟฟ้าในเฟสแรกที่ไม่มีปัญหาล่าสุด ทั้งในกลุ่มกัลฟ์ และกันกุล ที่ผ่านการคัดเลือกได้มีการทยอยลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.แล้ว โดยในส่วนของกลุ่มกัลฟ์ ลงนามไปแล้ว 24  โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม1,294 เมกะวัตต์  และ กันกุล ลงนาม 8 โครงการกำลังการผลิตรวม 429 เมกะวัตต์

4. สุญญากาศตำแหน่ง ผู้ว่า กฟผ. 

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับการสรรหาจากบอร์ด กฟผ.ให้เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ (คนที่ 16) มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการแต่งตั้ง นับเป็นการสรรหาตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ.ที่ยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงกับว้าวุ่น เมื่อตำแหน่ง “ผู้ว่าการ กฟผ.” ว่างเว้นมากว่า 4 เดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถแต่งตั้งใครขึ้นมาเป็นผู้ว่าการ กฟผ. แทน  นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 15 ที่ครบวาระไปตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 แม้ที่ผ่านมาจะมีกระบวนการสรรหา ผู้ว่า กฟผ. ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกรรมการ (บอร์ด) กฟผ. จะได้เสนอรายชื่อ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ (คนที่ 16) มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 ก่อนที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะประกาศยุบสภา 2 สัปดาห์ แล้วก็ตาม  แต่การดึงเรื่องเอาไว้เพื่อเสนอรายชื่อให้คณะรัฐมนตรี พิจาณาในช่วงรัฐบาลรักษาการ ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถตั้ง นายเทพรัตน์ ได้จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

โดยรัฐบาลนายเศรษฐา ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ยังไม่สามารถที่จะนำเสนอรายชื่อนายเทพรัตน์ เข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีได้ เนื่องจาก หลังวันที่ 30 กันยายน 2566 นายกุลิศ ซึ่งเกษียณจากตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีการยื่นลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ด กฟผ.ทำให้ กรรมการคนอื่นๆต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะด้วย 

โดยจากการหารือของ นายพีระพันธุ์และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ข้อสรุปว่า ตามขั้นตอนการแต่งตั้งผู้ว่า กฟผ. ภายหลังการตั้งรัฐบาลใหม่ จะต้องส่งรายชื่อผู้ว่า กฟผ.คนใหม่ กลับไปให้บอร์ด กฟผ. พิจารณาใหม่ หลังจากนั้น รมว.พลังงานจึงจะนำรายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไปได้ ทำให้ตำแหน่ง ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ต้องลากยาวไปถึงปี 2567

ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่า มีการกดดันให้ นายเทพรัตน์ ถอนตัวจากการสรรหา เพื่อไม่ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ โดยบอร์ด กฟผ.ชุดใหม่สามารถที่จะเลือกรายชื่อแคนดิเดทที่เห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำงานร่วมกับบอร์ดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งได้  ในขณะที่หากนายเทพรัตน์ ไม่ถอนตัว บอร์ดชุดใหม่ ก็จะต้องหาแนวทางในการล้มกระบวนการสรรหาของบอร์ดชุดเดิม และเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ ซึ่ง นายเทพรัตน์ จะหมดโอกาสที่จะเข้ารับการสรรหา เนื่องจาก มีอายุเกิน 58 ปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นใบสมัคร โดยนายเทพรัตน์ เกิดเมื่อ 31 กรกฏาคม 2508

อย่างไรก็ตามมีกระแสข่าวว่า โอกาสที่นายเทพรัตน์ จะได้รับการเสนอชื่อจากบอร์ด กฟผ.ชุดใหม่ให้เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คือ การที่ต้องสามารถสนองนโยบายจากบอร์ดและกระทรวงพลังงาน ได้เป็นอย่างดี  โดยเฉพาะเรื่องการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (system operator) หรือ “SO” ออกมาตั้งเป็นนิติบุคคลใหม่ที่มีความเป็นอิสระจากกิจการผลิตไฟฟ้า  ซึ่งเป็นนโยบายที่ทั้งนายเทพรัตน์ และคน กฟผ.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะจะกระทบต่อความมั่นคงของกิจการไฟฟ้าซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ กฟผ.ตาม พ.ร.บ.ที่จัดตั้งกฟผ.ขึ้น

5.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังไม่ฟื้นจากนโยบายตรึงราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม

ฐานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังคงติดลบจากนโยบายการตรึงราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม

นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 สถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มติดลบครั้งแรกในรอบ 9 ปี ที่ -1,633 ล้านบาท เนื่องจากนำเงินไปอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ต่อมาในปี 2565 ก็เจอสถานการณ์โควิด-19 พร้อมด้วยราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้นจากผลกระทบทางการเมืองในต่างประเทศ ส่งผลให้กองทุนฯ ติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.3 แสนล้านบาท และติดลบต่อเนื่องมาจนถึงปี 2566 ส่งผลให้ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาร่วมแก้ปัญหากองทุนฯ อย่างจริงจัง

โดยเริ่มต้นปี 2566 ในวันที่ 1 ม.ค. 2566 กองทุนฯ ก็ยังติดลบสูงอยู่ถึง -212,491 ล้านบาท และเริ่มกระบวนการทยอยกู้เงินจากสถาบันการเงินเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ภายใต้วงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ให้กู้ได้ 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่ราคาน้ำมันโลกเริ่มลดลงจาก 135 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาเหลือ 116 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในเดือน ม.ค. 2566 เป็นผลให้สภาพคล่องกองทุนฯ ดีขึ้นเล็กน้อย ขณะที่กระทรวงการคลังก็เข้ามาช่วยลดภาษีดีเซลลงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2566 ด้วย ประกอบกับกองทุนฯ เร่งเรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลกลับคืนกองทุนฯ โดยเรียกเก็บสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 6.70 บาทต่อลิตร ในเดือน ก.พ. 2566

จนกระทั่งเดือน พ.ค. 2566 ราคาน้ำมันโลกลดต่ำกว่า 100 เหรียญ เหลือ 97.12 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้ภาระการชดเชยราคาดีเซลลดลง ฐานะกองทุนฯ จากที่ติดลบ 2.1 แสนล้านบาท ก็ทยอยลดลงเหลือ 8.2 หมื่นล้านบาท แม้ระหว่างกลางปี 2566 กองทุนฯ จะได้รับผลกระทบจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย, การสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล ทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นลงระหว่าง 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลก็ตาม กองทุนฯ ก็ยังเข้าไปพยุงราคาดีเซลและLPG ได้อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ณ วันที่ 17 ธ.ค. 2566 กองทุนฯ ติดลบลดลง โดยอยู่ที่ -78,680 ล้านบาท ซึ่งมาจากการนำเงินไปชดเชยราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้บัญชีน้ำมันติดลบอยู่ -32,569 ล้านบาท และตรึงราคา LPG ไม่ให้เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ทำให้บัญชี LPG -46,111 ล้านบาท โดยกองทุนฯ ได้ทำเรื่องกู้เงินไว้ 1.1 แสนล้านบาท จากวงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามกองทุนน้ำมันฯ ยังไม่สามารถพลิกฐานะการเงินให้กลับมาเป็นบวกได้ในปี 2566 เพราะได้รับผลพวงต่อเนื่องมาจากปี 2565 โดยกระทรวงพลังงานคาดว่าอาจใช้เวลา 3-5 ปีกว่ากองทุนน้ำมันฯ จะกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง

Advertisment