ตลอดปี 2561 ที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการพลังงานมากมาย ซึ่งเป็น1ปี เต็มภายใต้การกำกับนโยบายของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีหลายประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในแวดวงพลังงาน และหลายเรื่องยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ผูกข้ามต่อไปจนถึงปีหน้า ซึ่งทีมข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center- ENC ) ได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆที่สำคัญบางส่วน มานำเสนอ ใน5เรื่อง ดังนี้
1.เอ็มโอยูล้มโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้
ประเด็นที่มีทั้งการคัดค้านและการสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ตั้งแต่ช่วงต้นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มาถูกปลดล็อกในยุคที่มีนายศิริ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน โดยเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2561 ที่ม็อบค้านถ่านหินในนามเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา เดินทางมาประท้วงที่หน้าอาคารสำนักงานสหประชาชาติ(UN) แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย นายศิริ ที่เพิ่งนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานไม่ถึง 3 เดือน ก็เดินทางไปพบกับแกนนำม็อบ และมีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกันที่จะยุติกระบวนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และให้มีการตั้ง คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA)สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้” ขึ้นเพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ในภาพรวม
คล้อยหลังไปได้ไม่นานกลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ออกมารวมตัวประท้วงหน้าอาคารสำนักงานใหญ่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และกดดันจนรัฐมนตรีพลังงานต้องออกมาลงนาม เอ็มโอยูเช่นเดียวกัน
ประเด็นเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กระทรวงพลังงานนับตั้งแต่การก่อตั้ง ที่ม็อบสหภาพรัฐวิสาหกิจกฟผ.มาถือป้ายประท้วงให้รัฐมนตรีพลังงาน ซึ่งเสมือนเป็นผู้กำกับนโยบายหน่วยงานของตัวเองให้ลาออก ที่หน้ากระทรวงพลังงาน
ส่วนคณะกรรมการ SEA ที่ได้รับงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จากการอนุมัติของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) วงเงิน 50 ล้านบาท นั้นได้ว่าจ้าง ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาเป็นที่ปรึกษา และคาดว่าประมาณ เม.ย.-พ.ค. 2562 จะรู้ผลการศึกษาเบื้องต้นว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่
- ปิดจ็อบ ประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกช ปตท.สผ.ชนะรวด
หลังจากที่ถูกคัดค้านจากทั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) จนทำให้เรื่องยืดเยื้อกันมานานตั้งแต่ต้นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จนนำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่เพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี และระบบจ้างผลิต เข้ามาในกฎหมาย นอกเหนือจากระบบสัมปทาน และทำให้กระบวนการประมูลแหล่งปิโตรเลียม เอราวัณ และบงกช ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565 -2566 ต้องประมูลภายใต้ระบบพีเอสซี
เรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ที่ถูกจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนเป็นเรื่องแรกของ นายศิริ ในตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน ก็สามารถที่จะเปิดประมูลและรู้ผลการประมูลได้ตามกำหนด นับตั้งแต่ วันที่ 24 เม.ย. 2561 กระทรวงพลังงานที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนมาร่วมประมูล จนถึงเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 ที่คณะรัฐมนตรี สัญจร จ. หนองคาย มีมติอนุมัติผลการประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกช ตามที่คณะกรรมการปิโตรเลียมเสนอ โดย ปตท.สผ. เป็นผู้ชนะประมูลเหนือคู่แข่งคือเชฟรอน ทั้งแปลงเอราวัณ และบงกช โดยเสนอราคาก๊าซธรรมขาติตั้งต้นต่ำสุดที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู เป็นระยะเวลา10 ปี และแบ่งกำไรให้รัฐ 68% ในแปลงเอราวัณ และ 70% ในแปลงบงกช โดยหลังจากนี้จะมีการลงนามในสัญญาร่วมกันในเดือน ก.พ. 2562 เพี่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นที่ท้าทายคือปตท.สผ.จะบริหารจัดการทั้งสองแปลงให้สามารถผลิตก๊าซได้ตามเงื่อนไข คือเอราวัณ 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และบงกช 700 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา10 ปี อย่างไร ในราคาขายก๊าซที่ถูกกดลงมาต่ำ แต่ต้นทุนการผลิตสูงในหลุมผลิตใหม่ๆที่สูงขึ้น และแต่ละขั้นตอนจะต้องถูกกำกับดูแลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่อาจจะทำให้เกิดความล่าช้ากว่าการทำงานในระบบสัมปทานเดิม
- เปิดร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ฉบับใหม่ (PDP2018 ) ไร้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี เทพา และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พร้อมเปิดทางให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) แข่งขันสร้างโรงไฟฟ้ากับกฟผ.อย่างเต็มที่
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้ดำเนินการเปิดประชาพิจารณ์ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ (PDP2018) ฉบับใหม่ ครบ 5 ภาค 6 พื้นที่ ไปเรียบร้อย แบบเงียบๆ ในขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงคนพลังงานว่าเป็นร่างแผนPDP ฉบับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้ามากำกับบทเองคนเดียว
โดยร่างแผน PDP2018นี้ มีสาระสำคัญที่แตกต่างไปจาก PDP2015 คือมีการจัดทำพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าเป็นรายภูมิภาค และให้กฟผ.ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเฉพาะที่เกี่ยวกับความมั่นคงในแต่ละภูมิภาค ส่วนกำลังการผลิตส่วนอื่นๆนั้น กฟผ.จะต้องแข่งขันกับ IPP
ร่างแผน PDP2018 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ ปี2562-2580 นั้นตัดทิ้ง ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2,000 เมกะวัตต์ รวมทั้ง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เคยบรรจุไว้ในช่วงปลายแผน PDP 2015 จำนวน2,000 เมกะวัตต์ ออกไปทั้งหมด โดยเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (แอลเอ็นจีนำเข้า ) เข้ามาทดแทน ซึ่งทำให้สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ ยังสูงที่ระดับ53% สูงกว่าแผน PDP2015 ที่เน้นกระจายเชื้อเพลิง และลดสัดส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซฯเหลือ 37%
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)ภาคประชาชนจำนวนมากถึง 10,000 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานชี้ว่า ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยตลอดแผน PDP ฉบับใหม่จะอยู่ที่ 3.576 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำจากแผนเดิมที่เฉลี่ยอยู่ที่ 5.55 บาทต่อหน่วย แต่ดูเหมือนว่าคนในแวดวงพลังงานจะยังไม่ปักใจเชื่อตาม เพราะเทียบราคาเชื้อเพลิงจากแอลเอ็นจีนำเข้า ที่เพิ่มสัดส่วนเข้ามาน่าจะสูงกว่าเชื้อเพลิงถ่านหินที่ถูกตัดออกไป
4. ปี2561 แต่งตั้ง “18 ตำแหน่งสำคัญคนพลังงาน”
การนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานของนายศิริ ประมาณ1ปีเศษ ถือเป็นช่วงที่มีบทบาทต่อการแต่งตั้งหรือรับรู้ถึงการแต่งตั้งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่สำคัญ ทั้งในส่วนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน อย่างกฟผ.และปตท. และหน่วยงานระดับกรมของกระทรวง รวมทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ที่ ตั้งโดยคำสั่ง คสช.โดยตำแหน่งสำคัญที่มีการแต่งตั้งในปี2561 รวม 18 ตำแหน่ง มีดังนี้
วันที่ 25 ก.ย. 2561 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงได้แก่
1.) น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงานไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
2.)นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงงาน ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
3.)นายยงยุทธ จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงพลังงานไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
4.)นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน และ
5.)นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการกระทรวงพลังงาน (ถือเป็นการแต่งตั้งที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ข้าราชการมากพอสมควร เพราะในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ นายทวารัฐ ถือเป็นบุคคลที่ทุ่มเทให้กับการทำงานเป็นอย่างมาก )
นอกจากนี้มีการแต่งตั้งปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ แทนนายธรรมยศ ศรีช่วย ที่เกษียณอายุราชการ โดย ครม.ส่งนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร จากกระทรวงการคลัง ข้ามห้วยมาเป็นปลัดกระทรวงพลังงานแทน ถือเป็นคนที่สองต่อจากนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ที่มาจากลูกหม้อกระทรวงการคลัง
และเมื่อวันที่18ธ.ค.2561ได้มีมติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ตั้งรองปลัดกระทรวงพลังงาน 2 ตำแหน่งและตั้งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)อีก 1 ตำแหน่ง ดังนี้
1.นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นรองปลัดกระทรวงพลังงาน
2.นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นรองปลัดกระทรวงพลังงาน
3.นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็น ผู้อำนวยการ สนพ.
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่ฮือฮาในวงการพลังงานที่สำคัญของปีนี้คือ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คศช.) เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ให้ปลดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ชุดเดิมออกทั้งหมด และแต่งตั้ง กกพ.ชุดใหม่ 7 คนแทน ได้แก่ นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย นายสุธรรม อยู่ในธรรม, นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ, นายพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน, นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์, นายสหัส ประทักษ์นุกูล และนางอรรชกา สีบุญเรือง
นอกจากนี้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจอย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ก็มีการเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ เช่นกัน โดย ครม. แต่งตั้ง นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย เป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 14 แทนนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 30 เม.ย. 2561 และคณะกรรมการ(บอร์ด) ปตท.มีมติ แต่งตั้ง นายชาญศิลป์ ตรีนุชกรประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. เป็นผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คน ที่ 9 แทนนาย เทวินทร์ วงศ์วานิช
- เผาปาล์มผลิตไฟฟ้า
ประมาณเดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมาสถานการณ์ราคาปาล์มในประเทศตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ส่งผลให้ภาครัฐต้องเร่งแก้ปัญหา โดยในส่วนของกระทรวงพลังงาน ประเด็นที่ต้องดำเนินการตามคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ(กนป.)และคณะรัฐมนตรี คือ การเพิ่มสัดส่วนของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ B100 ในน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ได้มากที่สุด และอีกเรื่องสำคัญที่ก่อนหน้านี้ ตอนที่รับตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานใหม่ๆ นายศิริ เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการนำน้ำมันปาล์มดิบไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของกฟผ. เพราะได้ไม่คุ้มเสีย แต่คราวนี้ ต้องยอมตามมติครม. ในการให้กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากเกษตรกร จำนวน1.6แสนตันในราคากก.ละ18บาทไปใช้เป็นเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าบางปะกง หน่วยที่ 3
โดยผลจากมาตรการดังกล่าว กฟผ.จะต้องใช้วงเงิน 2,880 ล้านบาท สำหรับการซื้อน้ำมันปาล์มดิบ และแบกภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าปกติ 1,354 ล้านบาท โดยต้นทุนส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นนั้น รัฐบาลจะใช้งบประมาณกลางจำนวน525 ล้านบาท มาชดเชยเงินให้กับ กฟผ. ส่วนที่เหลืออีก 829 ล้านบาท ทาง กฟผ.จะทำความตกลงกับกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณให้เป็นรายจ่ายเพื่อสังคม (PSA) ของ กฟผ. โดย กฟผ.ชี้แจงว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะไม่มีการนำไปคิดรวมกับค่าเอฟทีของค่าไฟฟ้า จึงไม่ส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้า ไม่เป็นภาระต่อประชาชน