ประธานาธิบดีเยอรมนี เยี่ยมชมความสำเร็จ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลก ของ กฟผ. ที่เขื่อนสิรินธร พร้อมแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน

355
- Advertisment-


ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเลือกพื้นที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ชมความสำเร็จโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลก ของ กฟผ. พร้อมแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality

วานนี้ (26 มกราคม 2567) ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมด้วยภริยา และคณะ ซึ่งเดินทางมาเยือนประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 22 ปี ได้เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร (Hydro-floating Solar Hybrid) จ.อุบลราชธานี เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า เตรียมขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน และพลังงานระหว่างประเทศ โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รักษาการผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายรอส คอนลอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ จำกัด และนายไพทูร ไพศาลสุขวิทยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ร่วมให้การต้อนรับ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ซ้ายสุด) ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รักษาการผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (ที่สองจากซ้าย)ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (กลาง)

ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้รับฟังการบรรยายภารกิจของ กฟผ. และข้อมูลโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ โดยใช้เทคโนโลยีด้าน​ระบบ​ควบคุม​ของบริษัท ซีเมนส์ จำกัด จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นโครงการนำร่องแห่งแรกของ กฟผ. ที่นำแสงอาทิตย์และน้ำซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน (Hybrid) เพื่อลดข้อจำกัดในการผลิตไฟฟ้าที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ โดย กฟผ. ได้พัฒนาระบบควบคุมและบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) เพื่อบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ สามารถผลิตไฟฟ้าได้นานขึ้น เสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงประมาณ 47,000 ตัน/ปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกป่า 37,600 ไร่ โดยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม​ 2564

- Advertisment -

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร เป็นหนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดของ กฟผ. จากทั้งหมด 16 โครงการ ใน 9 เขื่อนทั่วประเทศ มีกำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน ปัจจุบันโรงไฟฟ้าฯ แห่งนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี มีทางเดินชมธรรมชาติที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมทัศนียภาพที่สวยงาม เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานด้านพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่ ที่สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับชุมชน และกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดในภาพรวม

Advertisment