เร่งลงนามสัญญา ราชกรุ๊ป สร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก2โรง รวม 1,400 เมกะวัตต์ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ก่อนได้ รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่
หลังจากที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ซึ่งประชุมในช่วงเดือน พ.ค.2562 ที่ผ่านมาและไม่ได้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเหมือนเช่นที่เคยถือปฏิบัติมา ได้ อนุมัติให้ ราชกรุ๊ป (ชื่อเดิมคือ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ในพื้นที่เดิมจำนวน2โรง กำลังการผลิตโรงละ700เมกะวัตต์ รวม 1,400 เมกะวัตต์ โดยเป็นการก่อสร้างเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมของบริษัทไตรเอ็นเนอยี่ ที่จะปลดระวางออกจากระบบ ในปี2563 และอีกโรง เป็นการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้าของภาคตะวันตกและภาคใต้ เนื่องจาก เห็นว่า ราชกรุ๊ป มีความพร้อมเรื่องของที่ดิน ระบบท่อส่งก๊าซและสายส่งไฟฟ้า รองรับอยู่แล้ว โดย กบง.มอบให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เป็นผู้ดำเนินการเจรจาต่อรองราคา และดูแลเรื่องการลงนามในสัญญา ซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.และราชกรุ๊ป นั้น
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง กกพ.อยู่ในระหว่างการพิจารณาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25ปี ที่ทางสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตรวจสอบแล้ว เพื่อกำหนดวันในการลงนามระหว่าง กฟผ. กับ ราชกรุ๊ป และสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิง ระยะยาว กับ ปตท. โดยคาดว่าน่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ จะเริ่มปฎิบัติหน้าที่ เพื่อให้ ราชกรุ๊ป สามารถที่จะเริ่มกระบวนการลงทุนได้ตามแผน เพราะไม่น่าจะมีการสั่งรื้อหรือเพิกถอนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้
อย่างไรก็ตาม หากเรื่องดังกล่าว ดำเนินการในภายหลัง จากที่รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการลงนามในสัญญาได้ หากมีผู้ทำหนังสือร้องเรียนถึงมติ กบง. ที่ใช้วิธีการเจรจาต่อรอง กับราชกรุ๊ป แทนการประมูลแข่งขันราคาของ เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่หรือไอพีพี เหมือนที่ผ่านมา และทำให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ในฐานะประธานกบง. สั่งชะลอการลงนามเอาไว้ก่อน
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC ) รายงานว่า การที่ กบง.อนุมัติให้ ราชกรุ๊ป ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตกที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง จำนวน2 โรงรวม 1,400 เมกะวัตต์ นั้น เป็นการดำเนินการตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2562 ที่ให้ความเห็นชอบ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศฉบับใหม่ หรือ PDP2018 โดยในมติของ กพช. มอบอำนาจให้ กบง. ไปพิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผน PDP2018 ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับซื้อไฟฟ้า ระยะเวลา พื้นที่ ปริมาณและราคารับซื้อไฟฟ้า เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงประเด็นอื่นๆ โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้ ความพร้อมและการยอมรับชนิดของเชื้อเพลิงในด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ซึ่งคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2562 ให้ความเห็นชอบมติของคณะกรรมการกพช. ดังกล่าว จึงถือว่า ทางกบง.ได้อำนาจ จากคณะรัฐมนตรี ให้ไปจัดหาโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก ให้ได้ตามแผน PDP2018 ที่กำหนดไว้ ว่า โรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าของไตรเอ็นเนอยี่ ขนาด 700 เมกะวัตต์ จะต้องเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในปี 2567 และโรงไฟฟ้าใหม่เพื่อความมั่นคงไฟฟ้า ขนาด700 เมกะวัตต์ จะเข้าระบบในปี2568
ดังนั้น กบง.จึงมอบให้ กกพ.ไปเจรจาต่อรองกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเดิม คือราชกรุ๊ป แทนการเปิดประมูล จนได้ราคาค่าไฟฟ้าที่เห็นว่าเหมาะสม และ กบง.เห็นชอบ ก็สามารถอนุมัติ ให้ กฟผ.ไปลงนามในสัญญา ซื้อขายไฟฟ้า กับราชกรุ๊ป ได้ โดยไม่ต้องนำเรื่องกลับมาขออนุมัติ กพช.และครม.อีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่จะทำให้มีการทบทวน หรือเปลี่ยนแปลงมติที่ ให้ ราชกรุ๊ป สร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก ทั้ง2โรงได้ จะต้องมีผู้ที่ยื่นเรื่องคัดค้าน และพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า มติ กบง.ชุดที่นายศิริ เป็นประธาน นั้นไม่ชอบตามหลักการของ กพช. เช่น มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าการเปิดประมูลทั่วไป จะทำให้ได้ค่าไฟฟ้าถูกกว่า ราคาค่าไฟที่ ราชกรุ๊ป เสนอขาย ที่ทำให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเสียประโยชน์ จนทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ เป็นต้น แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ปรากฏว่ามีผู้ยื่นร้องเรียนคัดค้าน ที่จะนำไปสู่การสั่งทบทวนมติ กบง.ที่ออกมา