แหล่งเอราวัณ
- Advertisment-

หากเปรียบกับชีวิตของคน อายุ 40 ปี เป็นวัยที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการเปลี่ยนแปลง ได้เรียนรู้บ่มเพาะประสบการณ์ ได้เติบโตจากบทเรียนชีวิตและการทำงานผ่านกาลเวลา ได้มีโอกาสทำสิ่งดีๆ ให้กับคนรอบข้าง จนเรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว มีศักยภาพที่จะรับมือกับความท้าทายและโอกาสที่จะเข้ามาในอนาคตได้อย่างแข็งแกร่ง

จากจุดเริ่มต้นที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน รวมทั้งอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศ  ในปีนี้  “เอราวัณ” แหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกในอ่าวไทย ซึ่งมีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ ได้ทำหน้าที่ผลิตก๊าซธรรมชาติให้กับคนไทยครบ 40 ปี ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปกับการสร้างบุคลากรชาวไทยและวางรากฐานอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ นับเป็น 4 ทศวรรษแห่งการเดินทางที่น่าสนใจยิ่ง

พลังงานที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

- Advertisment -
การดำเนินงาน ณ แหล่งเอราวัณในอดีต

เอราวัณเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2524 หรือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศสู่ยุค “โชติช่วงชัชวาล” เมื่อไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้มากขึ้น โดยก๊าซธรรมชาติจากเอราวัณถูกนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณยังมีคุณภาพดีสามารถเป็นวัตถุดิบให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ นำมาสู่การพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard) ในปีถัดมา สำหรับเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับก๊าซธรรมชาติที่ค้นพบ และดึงดูดการลงทุนจากในประเทศและนอกประเทศ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนไทย เปิดศักราชการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมให้เจริญรุดหน้าอย่างก้าวกระโดด

พลังคนเพื่ออนาคตพลังงานไทย

การฝึกอบรมช่างเทคนิคปิโตรเลียม ณ ศูนย์เศรษฐพัฒน์

บุคลากรนับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิบัติการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดีเมื่อ 40 ปีที่แล้ว การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย และมีคนไทยน้อยคนที่มีความเชี่ยวชาญหรือจบการศึกษาในสาขานี้มาโดยตรง เชฟรอนจึงได้ก่อตั้ง “ศูนย์เศรษฐพัฒน์” ขึ้นในปี พ.ศ. 2523 ที่จังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาช่างเทคนิคปิโตรเลียมชาวไทยให้มีทักษะความรู้ความสามารถทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติเพื่อลงไปปฏิบัติงานที่แหล่งเอราวัณได้อย่างปลอดภัย

บุญล้อม เส็งสำราญ อดีตผู้จัดการฐานผลิตเอราวัณ ซึ่งเป็นชาวไทยหนึ่งใน 45 คน ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรมด้านปิโตรเลียมและเทคโนโลยี ณ ศูนย์เศรษฐพัฒน์ เป็นรุ่นแรก โดยใช้เวลากว่า 1 ปี กล่าวว่า “ช่วงแรกที่ลงไปปฏิบัติงานที่แหล่งเอราวัณพนักงานเกือบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ พวกเราก็ไปเรียนรู้จากพวกเขา จนเวลาผ่านไปบุคลากรที่เป็นชาวไทยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ โดยปี 2557 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ผมปฏิบัติงานบนแหล่งเอราวัณ บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกือบทั้งหมดเป็นชาวไทย ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาบุคลากรชาวไทยของเชฟรอนอย่างต่อเนื่อง”

บุญล้อม เส็งสำราญ

หาก ‘เอราวัณ’ คือโรงเรียนกลางอ่าวไทยที่สร้างคนผ่านประสบการณ์การเรียนรู้และแก้ปัญหาจากการลงมือทำงานจริง ‘เศรษฐพัฒน์’ ก็คือโรงเรียนบนฝั่งที่ฝึกฝนเตรียมความพร้อมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเสมือนจริง ให้ผู้เข้าฝึกอบรมได้มีความพร้อมมากที่สุด ก่อนการลงไปปฏิบัติงานกลางอ่าวไทย โดยตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ศูนย์เศรษฐพัฒน์ได้สร้างช่างเทคนิคปิโตรเลียมและช่างในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปแล้วทั้งหมด 60 รุ่น เป็นจำนวนกว่า 1,700 คน รวมถึงฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไปแล้วกว่า 400,000 คน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศให้ก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน

พลังแห่งการเอาชนะความท้าทาย

การใช้เทคโนโลยีเพื่อเอาชนะความท้าทายทางธรณีวิทยาของอ่าวไทย

โครงสร้างแหล่งกักเก็บก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณมีลักษณะเป็นกระเปาะขนาดเล็ก อยู่กระจัดกระจายในพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 4,500 ตารางกิโลเมตร  อีกทั้งแต่ละกระเปาะยังมีอัตราการเสื่อมถอยของผลผลิตสูงใช้ไม่นานก็หมดไป จึงจำเป็นต้องเจาะหลุมจำนวนมาก เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตามปริมาณที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน คงความต่อเนื่องในการส่งมอบพลังงานให้กับประเทศ ทำให้การผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณมีการลงทุนสูงและมีความเสี่ยงทางธุรกิจไม่น้อย

เชฟรอนเอาชนะความท้าทายทางธรณีวิทยาของแหล่งเอราวัณด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการทำงานเพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติมีประสิทธิภาพ สามารถนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงเกินไป ได้มาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เชฟรอนเป็นผู้นำในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น การสำรวจโดยวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบสามมิติ (3D Seismic) เพื่อให้การแปลผลสภาพทางธรณีวิทยาแม่นยำยิ่งขึ้น การขุดเจาะหลุมผลิตขนาดเล็กแบบมาตรฐาน (Standard Slim Hole) เครื่องเพิ่มแรงดันที่ติดตั้งบนแท่นหลุมผลิต (Remote Compressor Package) การอัดน้ำเสียในกระบวนการผลิตกลับลงหลุมที่ผลิตหมดแล้วเพื่อจะได้ไม่ต้องทิ้งน้ำเสียลงทะเล (Produced Water Injection) เป็นต้น โดยเทคโนโลยีและมาตรฐานการทำงานของเชฟรอนได้รับการยอมรับจากภาครัฐและกลายเป็นมาตรฐานให้กับผู้ผลิตรายอื่นในประเทศอีกด้วย

พลังแห่งความภาคภูมิใจ

เจ้าบุญรอด

พนักงานที่ปฏิบัติงาน ณ แหล่งเอราวัณ และแหล่งผลิตอื่นๆ กลางอ่าวไทยยังได้ มีโอกาสให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม แก่หลากหลายชีวิตที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นชาวประมงป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ หรือมีกรณีของการเจ็บครรภ์ที่เจ้าหน้าที่ห้องพยาบาลได้ช่วยทำคลอดให้  หรือรวมถึงสัตว์ต่างๆ เช่น ฉลามวาฬ หรือเต่าที่ติดเชือกอวน หรือแม้กระทั่งสุนัขที่ว่ายน้ำลอยคออยู่กลางทะเลอย่างเจ้า “บุญรอด” ก็ได้รับความช่วยเหลือและนำไปเลี้ยงดูอย่างดีที่บ้านของพนักงานที่ช่วยเหลือมันนั่นเอง

นอกจากนั้น ชาวเอราวัณและพนักงานนอกฝั่ง พร้อมด้วยครอบครัวยังได้ริเริ่มการทำงานเพื่อสังคมตั้งแต่หลายสิบปีก่อน ตั้งแต่คำว่า CSR ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน โดยใช้เวลาในช่วงหยุดพักหลายสัปดาห์ จากการปฏิบัติงาน รวมตัวกันทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชน อาทิ สร้างโรงเรียน สร้างสนามเด็กเล่น ปลูกป่า รวมถึง ช่วยเหลือสังคมในวิกฤตต่างๆ เช่น การฟื้นฟูชุมชนในจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล ที่ได้รับ ผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ ในปี 2547 ซึ่งสปิริตจิตอาสาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ได้เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้กับการทำกิจกรรมเพื่อ สังคมของพนักงานเชฟรอน ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งมาจนถึงปัจจุบัน

ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง

ชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “40 ปีมาแล้วที่ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณได้ทำหน้าที่เป็นพลังสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เอราวัณยังมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศ ทั้งในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี กระบวนการทำงาน ที่เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นโรงเรียนที่สร้างบุคลากรชาวไทยที่มีความสามารถออกไปปฏิบัติงานตามหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นพลังคนที่ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงยังได้มีโอกาสช่วยเหลือสังคมและชุมชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทยซึ่งเป็นบ้านของเรา นับเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราชาวเชฟรอนทุกคนจากรุ่นสู่รุ่น”

หากเปรียบเอราวัณเป็นคน การเดินทางตลอด 40 ปีของคนคนนี้ได้ผ่านความท้าทายต่างๆ มากมาย ที่เมื่อได้มองย้อนกลับไป ก็จะเกิดความภูมิใจและเป็นแรงผลักดันให้ก้าวต่อไปเพื่อเอาชนะความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศเหมือนดังเช่นที่ผ่านมาตลอด 4 ทศวรรษ

Advertisment