3การไฟฟ้าเร่ง Smart Grid ระยะสั้นให้เสร็จปี64

4228
- Advertisment-

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เผย 3 การไฟฟ้า เร่งดำเนินโครงการตามแผน Smart Grid ระยะสั้น ให้เสร็จตามแผนในปี 2564 นำร่องหลายโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพระบบไฟฟ้าของประเทศ ตั้งเป้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านไฟฟ้าอาเซียน

นายอนิรุทธิ์ ธนกรมนตรี โฆษกสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ,การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA)ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ(Smart Grid)ของประเทศไทย ระยะยาว 20 ปี พ.ศ.2558-2579 โดยขณะนี้ดำเนินการอยู่ในช่วงแผนระยะสั้น เฟส 2 ให้เสร็จตามกำหนดในปี 2560-2564 จากแผนระยะสั้นทั้งหมด 4 เฟส

โดย PEA เริ่มดำเนินการโครงการนำร่องด้านการตอบสนองโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงาน ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในพื้นที่เมืองพัทยา โดยมีการเปลี่ยนมิเตอร์เก่าให้เป็นสมาร์ทมิเตอร์ทั้งหมดเป็นตัวเลข 116,308 เครื่อง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปี 2563 และ 2.โครงการด้านระบบไมโครกริดและระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งได้มีการทำโครงการในพื้นที่ที่ห่างไกลจากสายส่ง ได้แก่ พื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และพื้นที่ในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย กฟภ.ได้ร่วมกับ กฟผ. ทำโครงการนำร่องระบบไมโครกริด โดยสร้างระบบไฟฟ้าที่แยกอิสระไม่ต้องพึ่งสายส่งหลัก และมีระบบกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในพื้นที่ตัวเอง

- Advertisment -

3. โครงการวิจัย EV Station ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองใช้งาน ซึ่งมี Application เพื่อใช้ในการบริหารจัดการการชาร์จ โดยมีสถานีทั้งหมด 11 แห่ง อาทิ หัวหิน ปากช่อง โคราช อยุธยา คาดว่าจะเปิดใช้งานประมาณเดือน เม.ย. 2563

4.โครงการวิจัย Power Pack คือการศึกษาระบบกักเก็บพลังงานซึ่งจะติดตั้งในบ้าน หากในอนาคตผู้ผลิตมีการติดตั้ง solar rooftop กันมากขึ้น ซึ่งในงานวิจัยได้จัดทำต้นแบบระบบกักเก็บพลังงาน ( ESS ) ที่ขนาด 5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ห่างไกลในพื้นที่ที่มีการติดตั้งโซลาร์อยู่แล้ว และอาจจะเป็นธุรกิจ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ของ PEA ในการให้บริการกับผู้ใช้ไฟฟ้าในอนาคต

ส่วน กฟน. ดำเนินโครงการนํารองระบบบริหารจัดการพลังงานในอาคารที่ทําการ ของ กฟน.ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบสมาร์ทกริด โดยดำเนินการเสร็จแล้ว รวมทั้งดำเนินโครงการนําร่องการตอบสนองด้านโหลดและกลไกราคาในพื้นที่กทม. และปริมณฑล (DR : LAMS) เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีส่วนร่วมต่อการบริหารจัดการพลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความคุ้มค่า คาดว่าจะเสร็จ ภายในปี 2565 ส่วนโครงการนําร่องระบบไมโครกริดของ กฟน. เพื่อศึกษาระบบไมโครกริดและเป็นอาคารตัวอย่างในการเรียนรู้ระบบ Facility Microgrid ของ กฟน. เป็นการรองรับระบบไมโครกริดและการขยายตัวของพลังงานทางเลือกในเขตพื้นที่บริการ บริหารจัดการ และควบคุมไมโครกริดในเขตพื้นที่บริการได้แบบ Real time คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำร่องอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ Smart Metro Grid Project เพื่อใช้งานเทคโนโลยีระบบสมาร์ทมิเตอร์ก่อนใช้ทั่วพื้นที่ กฟน. เป็นต้น

สำหรับ กฟผ. ได้เตรียมการบทบาทด้านรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้สามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนในอนาคต โดยปรับปรุงโรงไฟฟ้าและระบบส่งให้มีความทันสมัยมากขึ้น (Grid Modernization) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพยากรณ์พลังงานหมุนเวียน Big Data รวมถึงโรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และจัดทำแผนพัฒนา Grid Connectivity เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบส่ง รองรับการส่งจ่ายไฟฟ้าในภูมิภาค มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าของอาเซียน เตรียมพร้อมการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล ไปเป็นพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบไฮบริด สุดท้ายนำไปสู่เรื่องโรงไฟฟ้าชุมชน สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจฐานราก

โดยกฟผ.ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงาน EGAT Energy Excellence Center ให้ความรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน จุดเริ่มต้นแห่งการเกิดสมาร์ทกริด จะเป็นพื้นที่ที่ใช้พลังงานเลี้ยงตัวเองได้ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ มีระบบกักเก็บพลังงาน มีการให้ความรู้เรื่องระบบไฮโดรเจน พลังงานขยะ เพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อให้ศูนย์ฯไม่ต้องใช้ไฟจากกริด

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า กระทรวงพลังงานได้กำหนดแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ(Smart Grid)ของประเทศไทย ระยะยาว 20 ปี พ.ศ.2558-2579 ซึ่งจะใช้งบประมาณการลงทุนทั้งสิ้น 1.99 แสนล้านบาท แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น พ.ศ.2560-2564ซึ่งเป็นช่วงของการค้นคว้าทดลองทำโครงการต่างๆ , ระยะปานกลาง พ.ศ.2565-2574 ซึ่งเป็นช่วงนำสิ่งวิจัยทดลองไปสู่ประชาชน และระยะ3 พ.ศ. 2575-2579 เป็นช่วงที่พร้อมปฏิบัติได้จริง ซึ่งแผน Smart Grid ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือPDP2018 ด้วย

โดยปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่ในช่วงแผนระยะสั้นซึ่งมีทั้งหมด 4 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงแรก ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อปี 2558-2559 คือเป็นช่วงเตรียมการทางด้านนโยบายต่างๆ และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการช่วงที่ 2 ระหว่างปี 2560-2564 คือ พัฒนาโครงการนำร่องเพื่อทดสอบความเหมาะสมทางเทคนิคและความคุ้มค่าของการลงทุนในแต่ละเทคโนโลยี ดำเนินการโดย 3 การไฟฟ้าคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ส่วนช่วงที่ 3 จะเกิดขึ้นในปี 2565-2574 ที่จะเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด และช่วงที่ 4 ครอบคลุมปี 2575-2579 เริ่มทดสอบความสามารถของโครงข่ายสมาร์ทกริดอย่างเต็มรูปแบบ

Advertisment