กองทุนน้ำมันฯ ได้เงินกู้ก้อนแรก 5 พันล้านบาทแล้ว ท่ามกลางสถานะการเงินติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.32 แสนล้านบาท

301
N4037
- Advertisment-

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้รับเงินกู้ก้อนแรกจากสถาบันการเงินแล้ว 5,000 ล้านบาท จากวงเงินกู้รวม 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนชำระหนี้ประจำวัน ท่ามกลางสถานะกองทุนน้ำมันฯ ยังคงติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะ 132,732 ล้านบาท ด้านค่าการตลาดดีเซลและกลุ่มเบนซินกลับมาสูงกว่า 2 บาทต่อลิตร ขณะราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มลดลง จับตาค่ายน้ำมันปรับลดราคาตามทิศทางน้ำมันโลกอีกครั้ง   

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 21 พ.ย. 2565 ว่า กองทุนน้ำมันฯ ได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินก้อนแรกแล้ว 5,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา จากวงเงินที่จะกู้งวดแรกรวมทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท โดยอีก 5,000 ล้านบาท หากจำเป็นก็จะเปิดให้สถาบันการเงินยื่นข้อเสนออีกครั้ง    

สำหรับการกู้เงินในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ผ่านความเห็นชอบกฎหมายที่ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท  โดยกำหนดกรอบวงเงินกู้ไว้ 1.7 แสนล้านบาท แต่กู้ได้สูงสุดเพียง 1.5 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ 6 ต.ค.2565-5 ต.ค. 2566  

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกยังผันผวน  ส่งผลให้ปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันฯ ยังติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่อง โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) รายงานสถานะเงินกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2565 โดยกองทุนฯ ยังคงติดลบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 132,732 ล้านบาท ซึ่งมาจากการนำเงินไปชดเชยราคาน้ำมัน 89,329 ล้านบาท และชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) อีก 43,403 ล้านบาท

โดยสถานะการเงินที่ติดลบดังกล่าว ได้สร้างสถิติการติดลบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตที่กองทุนฯ เคยติดลบสูงสุดเมื่อปี 2547-2548 ซึ่งขณะนั้นทำสถิติติดลบสูงสุดของประเทศไว้ที่ ลบ 92,070 ล้านบาท เพื่อพยุงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้กองทุนฯ ได้เข้าไปชดเชยราคาน้ำมันและ LPG จนกองทุนฯ ติดลบสูง ซึ่งปัจจุบันกองทุนฯ ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1.04 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาจำหน่ายปลีกดีเซลยังเท่าเดิมที่ลิตรละ 34.94 บาทต่อไป  นอกจากนี้ยังได้ชดเชยราคาแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 0.12 บาทต่อลิตร และชดเชยราคาแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ 0.13 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตามกองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าบางส่วนจากการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน 7.88 บาทต่อลิตร, ผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 อยู่ที่ 0.79 บาทต่อลิตร และผู้ใช้ดีเซลเกรดพรีเมียมอยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร ส่งผลให้กองทุนฯ ยังมีเงินไหลเข้าจากการเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลพรีเมียม ประมาณ 2-3 พันล้านบาทต่อเดือน  หรือประมาณ 66-100 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่มีรายจ่ายสำหรับน้ำมันอยู่ที่ 166 ล้านบาทต่อวัน และรายจ่ายด้าน LPG อีก  21.85 ล้านบาทต่อวัน 

ขณะที่ค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมัน ณ วันที่  21 พ.ย. 2565 ซึ่งรายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่าค่าการตลาดผู้ค้าดีเซลอยู่ที่  2.85 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดกลุ่มเบนซินอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อลิตร ในขณะที่ค่าการตลาดเฉลี่ยระหว่าง  1-21 พ.ย.  2565 อยู่ที่  2.28 บาทต่อลิตร ซึ่งถือว่ายังสูงกว่าที่ภาครัฐขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันตรึงค่าการตลาดไว้ไม่ให้เกิน 1.40 บาทต่อลิตร 

และเมื่อมาดูสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ณ วันที่ 21 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 15.00 น.  ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 88.94 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 79.40  เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.68 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 87 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.62 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

ดังนั้นหากราคาน้ำมันตลาดโลกปิดตลาดในทิศทางลดลง ประกอบกับค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมันยังสูงกว่าที่ภาครัฐกำหนดไว้ 1.40 บาทต่อลิตร ก็มีโอกาสที่ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอาจปรับลดลงได้

Advertisment