กฟผ.โชว์ระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานและโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่ช่วยลดความผันผวนในระบบที่เกิดจากพลังงานหมุนเวียน และลดการนำเข้าLNGราคาแพง


เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 65 ที่ผ่านมานายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)คนใหม่ นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ณ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี และโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา เพื่อชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการลงทุนที่ช่วยลดความผันผวนในระบบไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตไฟฟ้าได้เป็นบางช่วงเวลา

โดยปัจจุบัน กฟผ.มีการลงทุนระบบ BESS เป็นโครงการนำร่องที่เริ่มใช้งานแล้วทั้งหมดขนาด 37 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ( MWh )ที่ถือว่ามีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แยกเป็นจุดที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนาด 21 MWh ที่พาคณะสื่อมวลชนมาเยี่ยมชม และอีก 16 MWh อยู่ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ

รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ.ที่เพิ่งเริ่มงานในตำแหน่งใหม่เมื่อวันที่ 1 ต.ค.
พร้อมกับการนำคณะสื่อมวลชนมาดูงานอธิบายว่า
การลงทุนระบบกักเก็บพลังงานทั้งที่ชัยบาดาล และบำเหน็จณรงค์ เพราะเป็นจุดที่อยู่ใกล้บริเวณที่มีโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมากโดยในช่วงที่ผลิตไฟฟ้าได้ แต่ความต้องการใช้ยังมีน้อย ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งมาเก็บที่ระบบแบตเตอรี่ ที่มีความจุขนาด 37 เมกะวัตต์ซึ่งเก็บไฟไว้ใช้งานได้นาน 1 ชั่วโมง โดยไฟฟ้าที่ถูกเก็บไว้ จะปล่อยออกมาใช้ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟสูงสุดในช่วงหัวค่ำ ที่ใช้แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ควบคู่ไปกับโรงไฟฟ้าหลัก

“ช่วงที่ลมมีน้อย กังหันลมผลิตไฟฟ้าไม่ได้ หรือช่วงที่ฟ้าครึ้มไม่มีแดด การมีระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่เก็บไฟสำรองไว้ให้ จะช่วยเรื่องคุณภาพไฟฟ้าไม่ให้เกิดไฟตกและดับ ลดความผันผวนในระบบ ทำให้การมีโครงข่ายระบบไฟฟ้ามีความทันสมัย ยืดหยุ่น หรือ Grid Modernization สามารถนำพลังงานหมุนเวียนดังกล่าวมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวมได้ “นายประเสริฐศักดิ์ กล่าว
สำหรับระบบ BESS ที่ กฟผ.ลงทุน เป็นแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน ซึ่งสามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากในพื้นที่จำกัด อีกทั้งยังสามารถจ่ายไฟและชาร์จไฟได้เร็วโดยออกแบบให้มีอายุการใช้งานได้นานถึง 15 ปี


นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้นำเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ คือ โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ที่มีบทบาทเป็นระบบกักเก็บพลังงานด้วยพลังน้ำขนาดใหญ่สำหรับระบบไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุด โดยจะนำพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยสูบน้ำจากเขื่อนด้านล่างขึ้นไปกักเก็บไว้ยังอ่างพักน้ำตอนบนขนาดความจุ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร และปล่อยน้ำลงมาผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทันที เมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง

นายประเสริฐศักดิ์ คำนวณตัวเลขเบื้องต้นให้เห็นว่า ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 400 ล้านหน่วยต่อปีโดยไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ซึ่งหากเทียบราคานำเข้า Spot LNG ณ ปัจจุบันที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู โรงไฟฟ้าแห่งนี้ สามารถประหยัดการนำเข้าLNGเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,200 ล้านบาทต่อปี
กฟผ.ยังมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับอีก 2 แห่ง คือที่ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์ และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อรวมกับที่ลำตะคองแล้ว จะมีกำลังการผลิตรวม 1,531 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ กฟผ. ยังมีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิต 801 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา คาดว่าจะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปี 2578