3 ประเด็นพลังงานโลกที่ต้องติดตาม ในปี 2562

4193
- Advertisment-

บทความ “3 ประเด็นพลังงานโลกที่ต้องติดตาม ในปี 2562”

โดยคอลัมนิสต์รับเชิญของศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC )

ดร. ทวารัฐ สูตะบุตร  ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน  

- Advertisment -

 

ในปี 2561 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีที่มีความผันผวนด้านพลังงานมากที่สุดปีหนึ่งทีเดียว เพราะช่วงต้นปีราคาน้ำมันยังนิ่งๆ อยู่ที่ 50 เหรียญต่อบาเรล และไม่มีท่าทีว่าจะขยับ ซักเท่าใด จนกลุ่มโอเปคเริ่มฮั้วติดทั้งกับภายในกลุ่มกันเองและนอกกลุ่ม (เช่น รัสเซีย) และเริ่มส่งสัญญานที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงเกือบ 2 ล้านบาเรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันกลับมีทิศทางสูงขึ้น ในช่วงกลางปี บวกกับพิษซ้ำเติมของประเด็นการล่มสลายของประเทศเวเนซุเอล่า (ทำให้กำลังการผลิตหายไปอีกเกือบ 2 ล้านบาเรลต่อวัน) ตามด้วย ประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และข่าวความขัดแย้งภายในกลุ่มประเทศมุสลิมตะวันออกกลางกันเองที่มาจากความดุดันขององค์มกุฏราชกุมาร MBS ที่ค่อนข้างโฉ่งฉ่างแกมโหดเหี้ยม (ทั้งกรณีสงครามเยเมน และคดีฆ่าหั่นศพนักข่าวฝั่งตรงข้าม) ทำให้มีผลกระทบต่อความสามัคคีในกลุ่มโอเปคไม่น้อยเลยทีเดียว

ต้นปีนี้ ผมเลยจะขอนำประเด็นใหญ่ 3  ประเด็น ที่สืบโยงมาจากเหตุการณ์ในปีก่อน (2561) ที่คาดกันว่าจะเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อไปในอนาคต โดยมีปี 2562 เป็นปีเริ่มต้นของทั้ง 3 เหตุการณ์ ดังนี้ ครับ

1.การค้าและราคา LNG จะสะพัดและราคาจะเริ่มไม่ผูกติดกับราคาน้ำมันดิบอีกต่อไป การค้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG (Liquified Natural Gas) เริ่มทวีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในแถบทุกทวีปของโลกใบนี้ มีการคาดการณ์ว่าปริมาณการค้า LNG ในปี 2562 นี้ จะเพิ่มขึ้นจาก 290 ล้านตันต่อปี เมื่อปลายปี 2560 เพิ่มเป็น 340 ล้านตันต่อปี ในปี 2562 นี้ และมีอัตราการเจริญเติบโตสูงถึง 10% ต่อปี แถมโตต่อเนื่องแบบนี้มานาน 5 ปีติดต่อกันแล้ว

สถิติที่น่าสนใจอีกประเด็นก็คือ จำนวนประเทศผู้นำเข้า (LNG Importing Countries) ได้เพิ่มจาก 11 ประเทศในปี 2543 (ค.ศ.2000) มาเป็น 41 ประเทศในปี 2561 โดยมีบังคลาเทศ และยิปรอลต้า เป็น 2 ประเทศ/เศรษฐกิจน้องใหม่ที่เริ่มนำเข้า LNG อย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา (ประเทศไทยเริ่มนำเข้าเมื่อปี 2554 น่าจะเป็นประเทศลำดับที่ ยี่สิบกว่า) ในขณะที่จำนวนประเทศผู้ส่งออก (LNG Exporting Countries) ก็เพิ่มจาก 12 ประเทศเมื่อปี 2543 มาเป็น 21 ประเทศเมื่อปีที่แล้ว โดยมีประเทศ คาแมรูน เป็นประเทศผู้ส่งออกรายล่าสุด (ประเทศโมซัมบิก และแทนซาเนีย ต่อคิวมานานแล้วแต่โครงการยังเดินหน้าไม่ออก…) แต่กลับมีนักวิเคราะห์วิเคราะห์ว่าประเทศผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในการส่งออก LNG  กลับถูกมองว่าเป็น 3 ประเทศที่น่าจะมีต้นทุนต่ำและมีโครงการเรียงคิวจ่อผลิตหลายโครงการมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซียและแคนนาดา ส่วนประเทศขาใหญ่เดิมที่เคยคุมส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดเช่น กาตาร์ อินโดนีเซียและมาเลเซีย กับถูกสัญญาระยะยาวผูกมัดไว้พอสมควร กระดุกกระดิกมากไม่ค่อยได้

และในปี 2561 ที่ผ่านมามีเรื่องที่ต้องบันทึกไว้อีกหนึ่งเรื่องด้วยก็คือ จีน ได้แซงหน้า ญี่ปุ่น เป็นประเทศผู้นำเข้า LNG ใหญ่ที่สุดของโลกเรียบร้อยแล้ว ด้วยปริมาณการนำเข้ามากกว่า 100 ล้านตัน ผ่านท่าเรือนำเข้า LNG Terminals 18 แห่ง แถมแต่ละแห่งที่เป็นท่าเรือใหม่ๆ ก็มีขนาดบิ๊กบึ้ม (ใหญ่กว่า 10 ล้านตันต่อปี) ทั้งนั้น

แต่ประเด็นที่น่าจะเปลี่ยนแปลงสภาวะตลาด LNG ในอนาคตคือการเริ่มมีสัญญาซื้อขายแบบใหม่ที่จะมีการยกเลิก “Destination Clause” ที่เคยระบุแบบเฉพาะเจาะจงค่อนข้างตายตัว เป็นรูปแบบที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เรื่องนี้จะปลดล๊อกทำให้เกิดการค้าขายที่สะพัดมากขึ้น จะมีกลไกลการแข่งขันและกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงที่หลากหลายที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้นในอนาคต แต่เรื่องนี้ หากจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด คงจะต้องมีนโยบายการเปิดเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติในประเทศปลายทางเข้ามาช่วยเสริมสนับสนุนอีกแรงด้วยดังเช่นในประเทศญี่ปุ่นและสิงค์โปร์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว และมีบทวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าหากการค้าขาย LNG ภายใต้สัญญารูปแบบใหม่ที่ไม่มี Destination Clause เริ่มใช้แพร่หลายในทวีปเอเซียแล้วล่ะก็ จะมีเรื่องสืบเนื่องตามมาอีกอย่างน้อย 2  เรื่อง คือ

หนึ่ง กลไกราคาและดัชนีราคา (Price and Price Index) ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยใช้ราคาน้ำมันดิบ (Japan Crude Cocktail)บ้าง หรือ ใช้ราคาก๊าซท่อที่  Henry Hub ในสหรัฐอเมริกา มาเป็นดัชนีอ้างอิงราคาซื้อขาย และ

 สอง จะเกิดศูนย์กลางการค้า LNG (LNG Trading Hub) ขึ้นในเอเซียนี้แน่นอน ซึ่งตอนนี้ทั้งสิงค์โปร์ และอินเดีย พยายามสร้างบทบาทและออกนอกหน้าอย่างมากแบบเรียกว่า “ออกตัวแรง” กันในทุกระดับในเวทีระหว่างประเทศกันทีเดียว

ดังนั้นเรื่องของวิวัฒนาการของการค้าขาย LNG ในปี 2562  นี้ ต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่งครับ

 

  1. Qexit (อ่านว่า ควิก – ซีท)

ท้องเรื่องของประเด็นนี้คือ ประเทศ กาตาร์ ประกาศแยกกตัวออกจากกลุ่มโอเปค โดยจะดีเดย์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 นี้เลย แม้ว่าทางการกาตาร์จะไม่เคยบอกเหตุผลที่แท้จริงของการถอนตัวครั้งนี้ แต่ทุกคนก็พอเดาออกว่าเพราะต้องการแสดงการเคืองและต้องการตอบโต้ ซาอุฯ ประเทศพี่ใหญ่ของทั้งในกลุ่มโอเปคและกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง (Gulf State Countries-GCC)  เพราะที่ผ่านมา ซาอุฯ พยายามที่จะปิดล้อมทางการเมืองและโดดเดียว กาตาร์ ทางเศรษฐกิจในทุกหนทาง แม้จะไม่ค่อยจะได้ผลเท่าใดนัก แต่ประเด็นที่ทุกคนจับตาหลังจาก  Qexit ครั้งนี้ก็คือ บทบาทและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มโอเปค ภายใต้การนำของ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ต่างหาก ว่าจะยังเหนียวแน่นเหมือนในอดีตหรือไม่ เพราะจะมีผลกระทบต่อราคานำ้มันดิบในตลาดโลกอย่างมาก เรื่องนี้คงต้องดูยาวๆ ครับ เพราะมี อิหร่าน อีกประเทศ ที่ทั้งรักทั้งเกลียดขี้หน้า ซาอุฯ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และไม่นับประเทศเวเนซูเอล่าอีกที่ล่มสลายและไม่มีการผลิตน้ำมันดิบที่เป็นนัยสำคัญต่อตลาดโลกแล้ว

กาตาร์ แม้ว่ามีกำลังการผลิตน้ำมันดิบแค่ 600,000 บาเรลต่อวัน ซึ่งถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตของโอเปคทั้งกลุ่มที่มีอยู่ถึง 30 ล้านบาเรลต่อวัน แต่ กาตาร์ เป็นประเทศที่มีกำลังการผลิต LNG และปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติใหญ่ที่สุดในโลก และกำลังได้รับแรงเสริมจากสหรัฐฯ ในบทบาทต่างๆ ในเวทีโลกด้วย

ผมว่าโอเปค ในช่วงที่อายุใกล้ครบ 60 ปี หากไม่ปรับบทบาทก็คงจะใกล้อวสานหรือไม่ก็ลดบทบาทลงไปทุกที และทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็น่าจะไปโยงกับความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง “ซาอุ – สหรัฐฯ – รัสเซีย” มากกว่าครับ

 

  1. ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา กับ จีน ต่อตลาดน้ำมัน

จีน ถือว่าเป็นตลาดน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งของโลก ที่มีอัตราความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5% ต่อปี ในอดีตจีนนำเข้านำมันดิบประมาณ 10 ล้านบาเรลต่อวัน และมีการนำเข้าจากทั่วทุกมุมโลก แม้ว่าส่วนใหญ่จะมาจากภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา แต่น้ำมันดิบจากสหรัฐอเมริกา (ที่ผลิตจากชั้นหินดินดาน หรือ ที่เรียกว่า Shale Oil) ก็เข้ามามีบทบาทพอสมควรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่จากสถิติที่เพิ่งเปิดเผยจาก APEC Energy Research Center (APERC) ทำให้ทราบว่า จีนไม่ได้นำเข้าน้ำมันดิบจาก สหรัฐฯ มา 3 เดือนติดต่อกันแล้ว แต่การผลิตและการส่งออกนำ้มันดิบของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ผลิตน้อยลงแต่อย่างใด (เป็นเหตุผลหนึงที่ทำให้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ราคาน้ำมันดิบลดลงรุนแรงต่อเนื่อง) แต่จากรายงายของ APERC กลับพบว่าประเทศอื่นในเอเซียโดยเฉพาะ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน กลับมีการนำเข้า Shale Oil จากสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น …. ประเด็นที่ต้องจับตามองคือ หาก  Shale Oil จากสหรัฐฯ สามารถเข้ามาเจาะตลาดเอเซียได้เพิ่มมากขึ้น ก็น่าจะทำให้ดัชนีราคานำ้มันดิบ “ดูไบ” ที่ใช้เป็นดัชนีหลักในการค้าขายในเอเซีย ขยับเข้าใกล้ราคา WTI (ซึ่งใช้ค้าขาย Shale Oil) มากขึ้น….แปลง่ายๆ ราคาดูไบอาจจะถูกลง spread ระหว่างดูไบ-WTI จะแคบลง เพราะผลพวงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ล่ะครับ

ทั้ง 3 ประเด็น คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะว่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานหลายเรื่องในการค้าขายพลังงานรอบบ้านเรา เลยทีเดียวครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก APEC Energy Research Center

Advertisment