3 การไฟฟ้า ร่วมจัดอบรม ARSEPE รับมือเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าแห่งอนาคต

905
- Advertisment-

กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดอบรม ARSEPE ผนึกความร่วมมือภาคีเครือข่ายกิจการไฟฟ้าอาเซียน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวคิด และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าระบบอัจฉริยะและระบบดิจิทัล หนุนอาเซียนพัฒนากิจการไฟฟ้าให้ทันสมัยและมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

นางภาวนา อังคณานุวัฒน์ รองผู้ว่าการบริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม 11th ASEAN Residential School in Electric Power Engineering (ARSEPE) ซึ่ง กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 28 มิถุนายน 2562 โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมจากกิจการไฟฟ้า 7 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย สืบเนื่องจากอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้ากำลังเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้น เพราะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าเป็นระบบดิจิทัลเพื่อก้าวสู่การเป็นโรงไฟฟ้าอัจฉริยะ รวมถึงการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในอาเซียนที่จะทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคสามารถจัดสรรและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าแห่งอนาคตที่อาเซียนต้องแลกเปลี่ยนความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าของภูมิภาคให้ทันสมัยและมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนร่วมกัน

- Advertisment -

“การประชุม 7th HAPUA Working Group No.5 : Human Resource ทำให้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวคิด และประสบการณ์ด้านพลังงานไฟฟ้า ภายใต้การอบรม ARSEPE เพื่อเตรียมบุคลากรกิจการไฟฟ้าอาเซียนให้พร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของโลก อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าและความรุ่งโรจน์ทางพลังงานของภูมิภาคอาเซียนต่อไป” นางภาวนากล่าว

สำหรับการอบรมในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้กรอบแนวคิด Transformation towards Smart and Digital Utility in Disruptive World โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงานไฟฟ้าจาก 3 การไฟฟ้าของประเทศไทย และสถาบันการศึกษา ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าในอนาคตและบทสรุป เทคโนโลยีสื่อสารในระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ แรงขับเคลื่อน นโยบาย และแนวโน้มของการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ พลังงานหมุนเวียน และการซื้อ-ขายพลังงานและพลังงานดิจิตอลในเมืองอัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาดูงาน OpenLab ของ Huawei ที่บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) และ SCG Floating Solar Solution ที่ จ.ระยอง เพื่อให้เห็นภาพของการเชื่อมโยงของระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในสถานการณ์จริงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศไทย

Advertisment