3การไฟฟา (กฟน. กฟผ. PEA ) จับมือ ขสมก.และสวทช. ทุ่มงบวิจัย 30 ล้านบาท ศึกษาโครงการดัดเปลงรถเมล์ปรับอากาศเก่าสภาพดี ยกเครื่องใหม่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ E-Bus นำร่อง 4 คัน คาดเสร็จภายใน 2 ปี หากสำเร็จจะเป็นรถ E-Bus ต้นแบบที่ผลิตเองในประเทศ พร้อมเปิดให้เอกชนนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจ และส่งเสริมเป็นรถเมล์ไฟฟ้าบริการประชาชนในอนาคต
นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ รองผู้ว่าการ ด้านวิชาการและบริหารพัสดุ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เปิดเผยว่า กฟน. ลงนามความร่วมมือกับ 2 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA) รวมทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในวันที่ 19 ก.ย. 2561 เพื่อจัดทำโครงการปรับเปลี่ยนรถประจำทางให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า(E-Bus) โดยใช้งบวิจัยจาก 3 การไฟฟ้ารวม 30 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินโครงการเป็นเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2561
เบื้องต้นจะนำรถประจำทางประเภทปรับอากาศ ของ ขสมก. ที่ไม่ใช้แล้วแต่มีสภาพดี จำนวน 4 คัน มาดัดแปลงให้เครื่องยนต์จากเชื้อเพลิงน้ำมันให้กลายเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นต้นแบบให้ 4 หน่วยงาน(กฟน. , กฟผ., PEA และสวทช.) นำไปทดลองขับใช้งานจริงก่อนจะขยายไปสู่การให้บริการประชาชนในอนาคต โดยขั้นตอนการนำไปใช้งานจริงของ 4 หน่วยงานจำเป็นต้องมีการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในพื้นที่แต่ละแห่งด้วย เพื่อให้เกิดความสะดวกในการชาร์จไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามโครงการนี้ จะเป็นส่วนสำคัญช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ให้สามารถเรียนรู้ต่อยอดไปสู่การผลิตและประกอบรถ EV รวมถึงรถ E- Bus ขึ้นภายในประเทศไทย โดยการนำต้นแบบที่ศึกษาในครั้งนี้ไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้ ขณะเดียวกันหากผลการศึกษาสำเร็จและภาครัฐต้องการนำไปใช้เป็นรถประจำทางให้บริการประชาชนก็สามารถดำเนินการได้ โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก่อน
ทั้งนี้โลกปัจจุบันกำลังมุ่งสู่ทิศทางรถ EV มากขึ้น ดังนั้นทั้ง 3 การไฟฟ้าจึงต้องเร่งพัฒนาและเรียนรู้การใช้ไฟฟ้าของเทคโนโลยีรถ EV โดยเร็ว เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าของประเทศในอนาคต และโครงการนี้จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย หากคนไทยสามารถประกอบรถยนต์ไฟฟ้าได้เองในประเทศ จากที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการนำรถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศมาทดลองใช้เท่านั้น