3 เรื่องร้อน แสนล้าน เหตุแห่งเกมยื้อเก้าอี้รัฐมนตรีพลังงาน 

3559
- Advertisment-

3 เรื่องร้อน แสนล้าน เหตุแห่งเกมยื้อเก้าอี้รัฐมนตรีพลังงาน 

ดูเหมือนว่าการเจรจาต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้ง นั้นจะยังไม่ลงตัวง่ายๆ  แม้ใกล้วันที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กำหนดเปิดประชุมสภา เพื่อโหวตเลือกบุคคลที่จะมาเป็น นายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 มิ.ย.2562 นี้แล้วก็ตาม ซึ่งหนึ่งในกระทรวงที่ยังมีปัญหาในการจัดเก้าอี้รัฐมนตรี และยื้อกันถึงที่สุดคือกระทรวงพลังงาน

ข่าวบางกระแสบอกว่ารัฐบาลคสช. ตั้งธงมาตั้งแต่ต้นว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจะขอดูแลกระทรวงสำคัญ3 กระทรวง คือ กลาโหม  มหาดไทย และพลังงาน เพื่อให้นายกรัฐมนตรี เลือกคนที่คิดว่าเหมาะสมมานั่งเป็นรัฐมนตรี นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดโผรัฐมนตรี ตามหน้าสื่อที่เหมือนว่า พปชร. ยอมยกกระทรวงเกรดเอ อย่างคมนาคม  ศึกษาธิการ สาธารณสุข  เกษตรและสหกรณ์  พาณิชย์ ให้ พรรคแกนนำที่คิดว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลอย่าง ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย เพื่อเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ได้แบ่งกันดูแล

- Advertisment -

เกมการต่อรอง ทำท่าเหมือนจะลงตัวตามนั้น  แต่กลายเป็นว่า สิ่งที่เคยตกลงกันไว้กับประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ต้องมาเจรจาเกลี่ยเก้าอี้กันใหม่จนถึงขณะนี้และทำท่าจะกลายเป็นศึกภายใน พปชร.เสียเอง เพราะ กลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในพรรค ต้องการจะคุมกระทรวงเกษตรฯ หรือกระทรวงพาณิชย์ มากกว่า ถึงขั้นมีข่าวออกมาว่าจะยกสส.ในทีมกว่า30ชีวิตไปอยู่กับฝั่งเพื่อไทย

พิจารณาดูถึงเหตุผลว่าทำไมกระทรวงพลังงานจึงกลายเป็นกระทรวงสำคัญในนาทีนี้ ที่รัฐบาลคสช.ในโควต้า พปชร.จะไม่ยอมเสียไปให้พรรคอื่น  ลองไล่เรียงตามข่าวที่ปรากฏ อาจจะเป็นเพราะยังมีเรื่องสำคัญที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลคสช. ทำค้างเอาไว้และต้องการรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ในสายเดียวกัน มาสานต่อให้จบแบบราบรื่น อย่างน้อย 3 เรื่อง  คือ1.เรื่องการอนุมัติให้บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตก 2 โรง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องเปิดประมูลแข่งขันราคากับเอกชนรายอื่น    2.เรื่องการอนุมัติให้บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด(มหาชน)หรือเอ็นพีเอส ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการไอพีพี โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ขนาด 540 เมกะวัตต์  เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซได้ พร้อมเจรจาอัตราค่าไฟฟ้ากันใหม่   และ 3.เรื่องการอนุมัติให้กฟผ.ทำสัญญากับผู้ชนะประมูลจัดหาLNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปีภายในปี2562 ต่อเนื่องไปจนถึงปี2569   (ปี2562 นำเข้า 2.8แสนต้น และปี2563-2569 นำเข้าปีละไม่เกิน1.5ล้านตัน)

โดยทั้ง3 เรื่องที่กล่าวมา ยังเหลือขั้นตอนการนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบ  เพื่อนำไปสู่การลงนามในสัญญา   ทั้งนี้มีการประเมินกันเบื้องต้นว่า ผลจากการอนุมัติทั้ง3เรื่อง จะผูกพันการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า และจัดหาLNG  คิดเป็นมูลค่ารวมกันเกินหลักแสนล้านบาท

ขยายความให้เข้าใจมากขึ้นในเรื่องที่1 นั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)เมื่อวันที่20พ.ค. ที่มีนายศิริ นั่งเป็นประธาน ได้อนุมัติ ให้ ราชกรุ๊ป ( ชื่อเดิมคือบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด มหาชน ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตก 2 โรง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์ และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในปี2567-2568โดยไม่ต้องเปิดประมูลแข่งขันราคากับเอกชนรายอื่นในรูปแบบของการประมูลไอพีพี เหมือนที่ผ่านมานั้น    เพราะที่ประชุมเห็นว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) สามารถเจรจาค่าไฟฟ้ากับ  ราชกรุ๊ป ได้เงื่อนไขค่าไฟฟ้าต่ำที่สุดแล้ว  เพราะราชกรุ๊ป จะมีการลงทุนในพื้นที่เดิม ที่มีทั้งระบบสายส่งไฟฟ้าและระบบท่อส่งก๊าซที่เป็นโครงข่ายเดิมเชื่อมต่อ อยู่แล้ว

โดยผู้บริหารของราชกรุ๊ปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า มีความพร้อมในการลงทุนดังกล่าว ซึ่ง มีการตั้งวงเงินลงทุนเฉพาะในส่วนบริษัทแล้วประมาณ 3หมื่นล้านบาท อีกทั้งจะเปิดทางให้มีพันธมิตรอื่นเข้ามาร่วมลงทุนด้วย นอกจากนี้เงินลงทุนที่เหลือจะมาจากส่วนของเงินกู้

ทั้งนี้ในการดำเนินการที่ถูกต้องตามขั้นตอน เรื่องดังกล่าว ยังเหลือขั้นตอนที่จะต้องนำเสนอให้ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ความเห็นชอบก่อน  จึงจะนำไปสู่การลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ. และราชกรุ๊ป ได้

อย่างไรก็ตามการอนุมัติให้ ราชกรุ๊ป เป็นผู้ได้สิทธิดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก ทั้ง1,400เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องประมูลแข่งขันนั้น ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ในหมู่บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายอื่นๆ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ภาค รัฐมีทางเลือกที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ไฟฟ้าได้ ด้วยการเปิดประมูลแข่งขัน  ซึ่งสามารถกำหนดพื้นที่แข่งขันเป็นภาคตะวันตก ที่มีแนวสายส่งไฟฟ้าและระบบท่อก๊าซของปตท.รองรับเช่นเดียวกับที่ราชกรุ๊ปมีความพร้อมได้    และใครเสนอเงื่อนไขราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำที่สุด ก็จะได้เป็นผู้ลงทุน  ทั้งนี้รัฐอาจจะใช้ราคาการเจรจากับราชกรุ๊ป เป็นตัวตั้งเพื่อเปรียบเทียบกันได้

ส่วนในเรื่องที่ 2 ที่ กบง.เห็นชอบ ให้ กกพ. และ กฟผ.ไปเจรจากับบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด(มหาชน)หรือเอ็นพีเอส ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการไอพีพี โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน ขนาด 540 เมกะวัตต์  สามารถเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ  จากที่ก่อนหน้านี้ ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว ฉบับใหม่ หรือPDP2018 ได้มีการเลื่อนโครงการดังกล่าวที่ควรจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2559-2560ออกไปเป็น 2569-2570  หรือเลื่อนไปอีก 10ปี นั้น  ก็มีข้อสังเกตจากคนในวงการพลังงานเช่นกัน ว่า ความล่าช้าในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของเอ็นพีเอส  ไม่ได้มาจากเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากความผิดพลาดของภาครัฐ ( Government Force Majeure) ดังนั้น เมื่อเอกชนไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ตามสัญญา รัฐจึงมีทางเลือกที่สามารถจะยกเลิกโครงการ เพราะปริมาณสำรองไฟฟ้าในภาคตะวันออก ยังมีสัดส่วนที่สูง ไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบ  หรือเลือกที่จะเปิดให้มีการประมูลแข่งขันเป็นการทั่วไปได้

แต่กบง. เลือกแนวทางที่จะให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)และกฟผ. ไปเจรจากับเอ็นพีเอส  จากที่ในแผน PDP2018 ได้เลื่อนกำหนดการจ่ายไฟฟ้า ของโครงการ จากที่ควรจะต้องเข้าระบบตั้งแต่ปี 2559-2560  เป็นเข้าระบบปี2569-2570 หรือเลื่อนไปอีก10ปีแล้ว

สำหรับเรื่องที่ 3  คือการประมูลนำเข้าLNG ไม่เกิน 1.5ล้านตันต่อปี  ของกฟผ.  ซึ่งเรื่องนี้ เป็นการดำเนินการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13ก.ค.2560 ที่อนุมัติหลักการและแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการ ก๊าซธรรมชาติ  โดย ให้ กฟผ. เป็น Shipper หรือผู้จัดหาLNG รายใหม่ นอกเหนือจาก ปตท.

โดยกบง.ที่มีนายศิริ เป็นประธาน ได้กำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมจากมติกพช.  ให้ กฟผ.ดำเนินการจัดหา LNG ไม่เกิน1.5ล้านตันต่อปี ภายในปี2562 ในอายุสัญญา 4 – 8 ปี  และราคาจัดหาต้องไม่สูงกว่าราคาต่ำสุดของสัญญา LNG ระยะยาวของไทยในปัจจุบันที่นำเข้าโดย ปตท.   จึงเป็นที่มาให้ กฟผ. ดำเนินการออกทีโออาร์เปิดประมูลให้เอกชนยื่นแข่งขันเสนอราคานำเข้าLNG ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ไปจนถึงปี2569 โดย บอร์ด กฟผ. ซึ่งประชุมนัดพิเศษ เมื่อวันที่14พ.ค.2562 ได้รับทราบผลการประมูลที่ ปิโตรนาส แอลเอ็นจี เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด จากบรรดาผู้แข่งขันทั้งหมด 12ราย  ก่อนที่จะนำเสนอในที่ประชุมกบง.เมื่อ20พ.ค. ที่ผ่านมา   อย่างไรก็ตาม กบง.ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบให้ กฟผ.ไปทำสัญญากับเปโตรนาส แอลเอ็นจี  เนื่องจาก นายศิริ ในฐานะประธาน กบง. เห็นว่า การนำเข้า LNG ไม่เกิน1.5ล้านตันต่อปี อาจจะมีประเด็นปัญหา take or pay (การรับก๊าซไม่ได้ตามปริมาณที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาแต่ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวน และขอเพิ่มปริมาณก๊าซให้ครบตามสัญญาในภายหลัง ) กับ ปตท.  ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าได้

เพราะหากกฟผ. นำเข้าLNG มาใช้ในโรงไฟฟ้าตัวเองตามเงื่อนไขที่มีการเปิดประมูล กฟผ.จะต้องไปลดการรับก๊าซที่มีสัญญาผูกพันอยู่กับปตท. ซึ่งอาจทำให้ เกิดปัญหาtake or pay  กับปตท. ที่มีสัญญาซื้อขายก๊าซกับทั้งผู้ผลิตในอ่าวไทย และ คู่ค้าLNG ที่มีสัญญาผูกกันอีกทอด  ดังนั้น นายศิริ จึงสั่งการให้ กฟผ.ไปเจรจากับปตท.เพื่อหาข้อยุติ ก่อนที่จะเสนอกลับมาให้ กบง.พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง  ที่อาจจะเป็นการ กบง.ภายใต้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่

สำหรับมูลค่าการนำเข้า LNG ของกฟผ.นั้น หากคำนวณที่ปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปีนับจากปี2563-2569 (ปี2562นำเข้า 2.8แสนตัน) ที่ราคา LNG เฉลี่ยตลอดอายุสัญญา 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จะสูงถึงประมาณ 160,000 ล้านบาท

มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า  หากการนำเข้าLNG ไม่เกิน1.5ล้านตันของกฟผ. ก่อให้เกิดปัญหาtake or pay  ที่จะกระทบต่อค่าไฟ เนื่องจาก ปตท.มีสัญญานำเข้าLNGระยะยาว รวม5.2 ล้านตันอยู่แล้ว ซึ่งเพียงพอสำหรับซัพพลายให้โรงไฟฟ้าของกฟผ.ไป จนถึงปี2571 ดังนั้น กฟผ.จึงไม่จำเป็นที่จะเร่งการนำเข้า LNG  จำนวนดังกล่าวภายในปี2562  โดยรัฐมนตรีพลังงาน สามารถที่จะนำเรื่องเสนอให้ กพช. ชะลอการนำเข้าออกไปอีกได้

ทั้ง3เรื่องร้อนของกระทรวงพลังงาน ที่รอ กพช.และครม.ให้ความเห็นชอบ รวมผลประโยชน์วงเงินการลงทุนและการจัดหาLNG หลักแสนล้านบาท นั้น  หากรัฐบาลคสช.ยอมปล่อยให้พรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ เข้ามาดูแล  ก็อาจจะไม่ชัวร์ว่าทั้ง3เรื่องดังกล่าว จะถูกชงต่อให้ กพช.อนุมัติโดยง่ายหรือไม่  หรือในทางกลับกัน หากรัฐมนตรีพลังงานจากพรรคร่วมเข้ามาทบทวน หรือรื้อเรื่องทำใหม่  ก็จะกลายเป็นเสียแผนที่อุตสาห์ตั้งเรื่องรอไว้  ดังนั้นเราจึงได้เห็นเกม ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีพลังงาน ด้วยเดิมพันที่สูง  แบบที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน   จึงต้องตามดูกันต่อให้จบว่าในท้ายที่สุดแล้วใครจะเป็นผู้ชนะในเกม

//ทีมข่าวENC

Advertisment