3แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนหรือ ERS ซึ่งต่างได้รับการเชิญให้เป็นที่ปรึกษานายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ หนุนทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับล่าสุดหรือPDP 2018 โดย “พรายพล ” เสนอปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ และขยะ ที่เป็นวัตถุดิบที่จัดหาได้ในประเทศให้มากขึ้น ในขณะที่ “คุรุจิต”ระบุการจัดทำPDP2018 มีความเร่งรีบ พร้อมเสนอให้พื้นที่ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในแผนPDP เช่นเดียวกับที่เคยบรรจุไว้ในPDP2015 ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กับพื้นที่ได้มากกว่าการไปตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ที่ จังหวัดราชบุรี แล้วส่งไฟป้อนภาคใต้ ส่วน”มนูญ” เรียกร้องให้รัฐบาลชัดเจนในการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง “ก๊าซ “หรือ”ถ่านหิน “
ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ หนึ่งในแกนนำERS กล่าวบนเวทีงานครบรอบ 5 ปี ภายใต้หัวข้อ 5 ปี ERS: “ทิศทางประเทศไทย ทิศทางพลังงานไทย” จัดขึ้นที่หอประชุมสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อช่วงค่ำวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ถึงแม้ว่าตัวเขาจะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดทำแผน PDP2018 แต่ก็เคยได้มีการแสดงความเห็นคัดค้านในหลายประเด็น และเห็นว่าแผน PDP2018 (ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 24ม.ค.2562 และผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2562) ยังมีข้อบกพร่องที่ต้องมีการแก้ไขทบทวน โดยเฉพาะการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่ต่ำเกินไป โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนที่มาจาก ชีวมวล เช่น แกลบ ชานอ้อย ไม้โตเร็ว และทรัพยากร อื่นๆ จากชีวภาพ เช่นน้ำเสีย และจากขยะRDF ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถจัดหาได้ภายในประเทศ โดยในหลายพื้นที่มีศักยภาพของชีวมวลแต่ละประเภทที่แตกต่างกันไป จึงเสนอให้มีการปรับเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ภาคประชาชน ที่กำหนดรับซื้อไว้ปีละ100 เมกะวัตต์ ต่อเนื่องเป็นเวลา10ปี ควรจะมีการปรับเพิ่มอัตรารับซื้อให้สูงกว่าราคาที่กำหนดไว้ในปัจจุบันที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ที่เป็นราคาซึ่งไม่จูงใจและทำให้โครงการไม่ได้รับความสนใจจากประชาชน อย่างไรก็ตามอัตราค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นก็จะต้องไม่เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าในส่วนของเอฟที
ในขณะที่นายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และหนึ่งในแกนนำERS กล่าวในประเด็นPDP2018 ด้วยว่า กระบวนการจัดทำPDP2018 และการเปิดรับฟังความคิดเห็น เป็นไปอย่างเร่งรีบ (สนพ.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างPDP2018 ใน 4 ภูมิภาคต่อเนื่อง 3ธ.ค.2561 ที่เชียงใหม่ 4ธ.ค.2561ที่ขอนแก่น 6ธ.ค.2561ที่สุราษฎร์ธานี 7ธ.ค.2561 ที่ชลบุรี ) อีกทั้งยังมีข้อกังวลเรื่องการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่อาจจะไม่ได้คำนึงถึง กระแสการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เป็นทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้ไฟฟ้าหรือProsomer ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีของโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ ที่พัฒนาขึ้นและมีต้นทุนที่ถูกลงมาก อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้แผนนี้มุ่งเน้นการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มากเกินความจำเป็น
นอกจากนี้ ยังเห็นถึงความจำเป็นของการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ เพื่อความมั่นคงไฟฟ้า ตามที่เคยบรรจุไว้ ในPDP2015 โดยให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงชนิดของเชื้อเพลิง แต่ PDP2018 กลับเน้นประเภทเชื้อเพลิงไปที่ก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว โดยไปเพิ่มโรงไฟฟ้าใหม่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงที่จังหวัดราชบุรี และส่งไฟฟ้ากลับมาเสริมความมั่นคงที่ภาคใต้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยง เหมือนที่เคยเกิดกรณีฟ้าผ่า สายส่งและทำให้ไฟฟ้าดับ14 จังหวัดที่ภาคใต้มาแล้ว (ฟ้าฝ่าลูกถ้วยสายส่งไฟฟ้าแรงสูง500เควี จอมบึง-บางสะพาน เมื่อวันที่21 พ.ค.2556 จนทำให้14จังหวัดที่ภาคใต้เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง นับเป็นเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในรอบ30ปี)
โดยนายคุรุจิต กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะต้องมีความกล้าในการตัดสินใจ โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่กระบี่ และเทพา ซึ่งไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในPDP2018 นั้น ถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะสร้างความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้ได้ดี กว่าโรงไฟฟ้าที่ไปตั้งที่ภาคตะวันตก โดยเสียงของคนในพื้นที่ที่สนับสนุน มีมากกว่า เสียงคนที่คัดค้าน ซึ่งตนเองเห็นว่า ทุกโครงการของรัฐ จะต้องมีคนที่ไม่เห็นด้วยบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน แกนนำERS กล่าวในประเด็นเดียวกันนี้ว่า อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนว่าในภาคใต้จะเลือกให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือจะเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซ เพราะ ได้มีการตั้งคณะกรรมการSEA ศึกษาความเหมาะสมโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ ที่ผลการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ โดยที่ผ่านมารัฐมนตรีพลังงานคนเก่า มีการลงนามเอ็มโอยูกับทั้งกลุ่มคนที่คัดค้านและกลุ่มคนที่สนับสนุน