หน้าร้อนยอดใช้ไฟฟ้า มี.ค.-เม.ย. ทะลุ 3 หมื่นเมกะวัตต์ ภาครัฐห่วงใช้ไฟฟ้าสูง ต้องนำเข้า LNG มากจนกระทบค่าไฟฟ้าโดยรวม เหตุราคา LNG โลกพุ่ง ขณะแหล่งก๊าซฯเอราวัณ ยังผลิตได้ไม่เต็มที่ เร่งรณรงค์ประชาชนประหยัดไฟฟ้า ด้านคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หารือ 3 การไฟฟ้าว่าควรปัดฝุ่นดึงมาตรการลดใช้ไฟฟ้าแบบสมัครใจ (Demand Response) กลับมาใช้ใหม่หรือไม่
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ในช่วง 3 เดือนของปี 2565 ระหว่าง 1 ม.ค.-20 เม.ย. 2565 ในระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ว่า ช่วงฤดูร้อนยอดใช้ไฟฟ้าปรับสูงขึ้นตามสภาพอากาศ โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาได้เกิดพีคไฟฟ้าของปี 2565 ในวันที่ 26 เดือน มี.ค. 2565 เวลา 20.39 น. ยอดใช้ไฟฟ้ารวม 30,261.6 เมกะวัตต์ แต่นับว่ายังต่ำกว่าพีคไฟฟ้าของประเทศที่เคยขึ้นสูงสุดถึง 32,272.8 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2562 เวลา 14.27 น.
สำหรับพีคไฟฟ้าของเดือน เม.ย. เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 เวลา 14.52 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 30,188.4 เมกะวัตต์ ส่วนการใช้ไฟฟ้าล่าสุดวันที่ 20 เม.ย. 2565 เมื่อเวลา 14.51 น. มียอดใช้ไฟฟ้ารวม 28,192.4 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2565 นี้คงต้องจับตาดูว่าจะเกิดพีคไฟฟ้าของปี 2565 ขึ้นอีกหรือไม่หากสภาพอากาศยังร้อนสะสมต่อเนื่อง
ทั้งนี้ภาครัฐออกมายืนยันว่าประเทศไทยยังมีไฟฟ้าเพียงพอแม้จะเกิดพีคไฟฟ้าประเทศขึ้นหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากกำลังผลิตไฟฟ้ามีสูงกว่า 50,000 เมกะวัตต์ แต่ปัญหาสำคัญคือราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น
รวมทั้งกรณีการเปลี่ยนมือผู้ผลิตก๊าซฯแหล่งเอราวัณ จากผู้รับสัมปทานรายเก่าไปสู่ผู้ผลิตรายใหม่ที่ชนะการประมูลด้วยระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) ซึ่งจะเริ่มต้นเข้ามาดำเนินการในวันที่ 23 เม.ย. 2565 และจะส่งผลให้การผลิตก๊าซฯ ไม่ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยผู้ผลิตคาดว่าจะเหลืออยู่เพียง 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) จากต่างประเทศ หรือน้ำมันดีเซล ซึ่งมีราคาสูงในช่วงนี้มาผลิตไฟฟ้าแทน
แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้า เพื่อลดการนำเข้าก๊าซ LNG โดยเฉพาะในเดือน เม.ย. 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากคาดว่าแหล่งเอราวัณต้องใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะกลับมาผลิตก๊าซฯได้ถึง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งระหว่างนี้อาจต้องใช้ LNG และน้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าไปก่อน แต่จะพิจารณานำเชื้อเพลิงที่ราคาถูกกว่ามาผลิตไฟฟ้าก่อน เพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงเกินไป
นอกจากนี้ กกพ. ได้หารือกับ 3 การไฟฟ้า(กฟผ. ,การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA) พิจารณาแนวทางมาตรการลดใช้ไฟฟ้าตามความสมัครใจ หรือ Demand Response ว่าจะนำมาช่วยกระตุ้นประชาชนให้ร่วมกันประหยัดไฟฟ้าดีหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมามาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อลดพีคไฟฟ้าของประเทศ ป้องกันการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มโดยไม่จำเป็น โดยหากผู้ที่เข้าร่วมโครงการลดใช้ไฟฟ้าได้เท่าไหร่ ภาครัฐจะจ่ายเงินคืนกลับให้เท่านั้น แต่ปัจจุบันการลดใช้ไฟฟ้าไม่ได้เพื่อลดพีค แต่เป็นไปเพื่อต้องการให้เกิดการประหยัดการใช้ไฟฟ้า เพื่อลดการนำเข้า LNG ที่มีราคาแพง
ประกอบกับ กกพ.ไม่มีเงินเหลือเพียงพอจะคืนให้กับผู้ที่ลดใช้ไฟฟ้าได้ ดังนั้นอาจพิจารณาแนวทางอื่นที่เหมาะสมกว่า เช่น การขอความร่วมมือรณรงค์การประหยัดไฟฟ้า หรือ การนำเงินที่ได้จากการลดใช้ไฟฟ้ามาเปิดโครงการล้างแอร์ฟรีให้ประชาชนเหมือนที่ กฟผ.ดำเนินการอยู่ โดย กกพ.จะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป