สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)ลงพื้นที่รับฟังความเห็นผู้ประกอบการผลิตน้ำมันปาล์มจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ปรับสัดส่วนการผสม B100 ในดีเซลใหม่ หลังหมดมาตรการกำหนดจำหน่ายดีเซล B5 ทั่วประเทศในวันที่ 31 มี.ค. 2565 นี้ ด้านผู้ผลิตน้ำมันปาล์มแนะรัฐปรับสัดส่วนผสม B100 แบบยืดหยุ่นตามสต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศเป็นหลัก ชี้ภาครัฐบริหารน้ำมันปาล์มล่าช้า จะส่งผลให้ต้นทุนดีเซลที่ผสมB100 จะมีราคาแพงในช่วงนี้
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยในระหว่างนำคณะสื่อมวลชนสายพลังงานจากส่วนกลางลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากปาล์มน้ำมัน ช่วงวันที่ 24-25 ก.พ. 2565 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า กระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการปรับสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (B100) ในน้ำมันดีเซลใหม่ เนื่องจากปัจจุบันคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ได้กำหนดสัดส่วนการผสม B100 ในดีเซล 5% ทุกลิตร หรือเรียกว่า B5 สำหรับเกรดน้ำมันดีเซลทุกชนิดไปจนถึง 31 มี.ค. 2565 ดังนั้นหลังจากสิ้นสุดมาตรการนี้ทาง กบง.จะต้องพิจารณากำหนดสัดส่วนการผสม B100 ใหม่
เบื้องต้นคณะทำงานดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยตัวแทน สกนช. ตัวแทนกระทรวงพลังงาน โดยมีอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานเป็นประธาน จะเสนอ กบง.ในเร็วๆนี้ว่าจะปรับสัดส่วน B100 กลับสู่สัดส่วนเดิมคือ B7(น้ำมันดีเซลที่ผสมB100 ในสัดส่วน 7% ทุกลิตร),B20 (น้ำมันดีเซลที่ผสมB100 ในสัดส่วน 7% ทุกลิตร) และดีเซล หรือจะยังคง B5 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม สกนช. จะนำข้อมูลจากผู้ประกอบการ B100 ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ สกนช.ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและความเห็นจากผู้ประกอบการไปนำเสนอต่อ กบง. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการปรับสัดส่วน B100 เบื้องต้นผู้ประกอบการ B100 ได้เสนอให้ภาครัฐกำหนดสัดส่วนการผสม B100 ในดีเซลให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสต๊อก B100 ในประเทศ เช่น ถ้าสต๊อก B100 มีมากถึง 3 แสนตัน ให้กำหนดการผสม B100 จำนวน 5-7% หรือกำหนดให้ขายน้ำมันดีเซล B5-B7 หรือหากสต๊อกต่ำกว่า 3 แสนตัน ให้กำหนด B100 จำนวน 3-4% หรือ B3-B4 เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันสต๊อกประเทศมีอยู่ประมาณ 1.5 แสนตัน
นายไกรวุฒิ ศิริอนันตภัทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอส.พี.โอ.อะโกรอินดัสตรี้ส์ จำกัด กล่าวว่า ในกรณีราคาน้ำมันดีเซลมีราคาแพง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น และอีกส่วนเกิดจากการผสม B100 ซึ่งในช่วงนี้มีราคาสูง ประมาณ 50 บาทต่อลิตร โดยปัจจุบันราคา B100 ของผู้ประกอบการแต่ละรายมีราคาแตกต่างกัน โดยพิจารณาจากต้นทุนและปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่จำหน่ายได้, ราคาจากโรงงานข้างๆ,ราคาน้ำมันปาล์มที่ขายได้,ราคาน้ำมันโลก และเปอร์เซนต์การสกัดน้ำมันปาล์ม เป็นต้น
ดังนั้นเห็นว่าภาครัฐควรปรับแนวทางในการบริหารจัดการ B100 ใหม่ โดยควรเน้นด้านการบริโภคมาเป็นอันดับแรกก่อน และผลผลิตเหลือจึงค่อยนำมาใช้ในภาคพลังงาน นอกจากนี้ควรปรับสัดส่วนการผสม B100 ในดีเซลตามสต๊อก B100 ในประเทศ และภาครัฐควรดำเนินการปรับเปลี่ยนให้เร็วกว่านี้ ซึ่งผลผลิตปาล์มจะเหลือน้อยในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค.-ก.พ. ของทุกปี และราคาแพง ดังนั้นภาครัฐควรดักซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพื่อมาผลิต B100 ก่อนที่จะราคาแพง แต่เมื่อภาครัฐดำเนินการช้า จึงส่งผลให้เมื่อเข้าถึงเดือน ก.พ. นี้ ผลผลิตปาล์มน้อย และราคาแพง ประกอบกับราคาน้ำมันโลกสูง จึงส่งผลให้ราคาดีเซลในประเทศปรับสูงมาก แต่หากภาครัฐจะมาใช้นโยบายไม่ผสม B100 ในดีเซลเลย ก็จะมีผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาครัฐต้องการลดปัญหาค่าฝุ่น pm 2.5 เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐควรบริหารจัดการปรับสัดส่วนการผสมB100 ในดีเซลให้เร็วและทันต่อราคาน้ำมันปาล์มที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละสัปดาห์ เป็นต้น
สำหรับบริษัทฯ มีโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบ 5 โรงงาน มีกำลังผลิต 4 หมื่นตันต่อโรงต่อปี ส่วนปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศอยู่ที่ 47-48 บาทต่อกิโลกรัม ส่วน B100 อยู่ที่ 50 บาทต่อลิตร และสต๊อก B100 อยู่ที่ 1.5 แสนตัน
ด้านนายรานนท์ ทองพันธ์ เกษตรกรปาล์มน้ำมันจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัจจุบันราคาปาล์มอยู่ที่ 8.6-8.8 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งลดลงจากเดือน ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ที่อยู่ระดับ 11.80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งราคาระดับกว่า 8 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ และเห็นว่าราคาต่ำสุดที่คุ้มค่าต่อการลงทุนไม่ควรต่ำกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันราคาปุ๋ยกับค่าแรงปรับสูงขึ้นมาก จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านราคาปุ๋ยให้ต่ำลงด้วย
นายประวิทย์ ทยาวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารธุรกิจโรงงาน บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด กล่าวว่า ภาครัฐควรกำหนดสัดส่วนผสม B100 ในดีเซลให้ชัดเจนว่าจะเป็นผสมกี่เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะนโยบายที่จะผลักดันไปสู่มาตรฐานยูโร 5 ว่าจะมีสัดส่วนผสมเป็น B7 หรือ B10 และจะมีสูตรอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบกับการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้คิดค้นกรรมวิธีผลิต B7 หรือ B10 ให้ตรงตามมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด เพราะหากรัฐไม่มีความชัดเจนเรื่องสเปค B100 ในดีเซล เพื่อรองรับยูโร 5 ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถหาวิธีดำเนินการที่ถูกต้องได้
ส่วนการปรับลดส่วนผสม B100 จาก 7% เหลือ 5% จนถึง 31 มี.ค. 2565 มองว่าคงเป็นแค่มาตรการระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดีเซลแพงและลดผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันปาล์มที่มีน้อย ขณะที่เดือน มี.ค.-เม.ย. นี้จะมีผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดมากถึงเป็นช่วงพีค ก็ต้องดูว่ารัฐจะกำหนดนโยบายอย่างไรหากสต๊อกในประเทศมีปริมาณมากและราคาตลาดโลก รัฐต้องดูว่าราคาตลาดโลกในขณะนี้สามารถส่งออกได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถส่งออกได้รัฐอาจต้องปรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มในประเทศ