ในปีที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน และรัฐบาล พยายามหาหนทางลดค่าใช้จ่ายในเรื่องราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าก๊าซหุงต้ม จนสามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนลงได้
อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 นี้ ยังมีเรื่องที่ท้าทายกว่าให้รัฐบาล กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน ต้องเร่งดำเนินการหาทางออกให้เร็วที่สุด ซึ่งก็คือ การแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ และการรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมให้ได้ปริมาณตามเป้าหมายและแผนที่วางไว้ เพราะการเริ่มต้นสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมไปจนถึงขั้นตอนการผลิตจะใช้ระยะเวลายาวนานหลายปี ประกอบกับแหล่งปิโตรเลียม ทั้งแหล่งก๊าซธรรมชาติ และแหล่งน้ำมันดิบในปัจจุบัน เกือบทั้งหมดเป็นแหล่งที่มีการผลิตขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว ทำให้มีปริมาณสำรองลดน้อยลงทุกปี
ปี 2567 จึงถือเป็นปีแห่งความท้าทายในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยอย่างแท้จริง เรื่องแรกก็คือ การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 25 ในแปลงพื้นที่บนบก โดยสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องดำเนินการคือการแสวงหาแนวทางดำเนินงานอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในเรื่องรายละเอียดของการกำหนดพื้นที่สำหรับเปิดให้ยื่นขอสิทธิเพื่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และขั้นตอนการยื่นคำขอเข้าใช้พื้นที่ให้มีความชัดเจน เช่น การดำเนินกิจกรรมบนบกที่บางแปลงสัมปทานจำเป็นต้องมีการขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อเข้าทำการสำรวจหรือผลิตในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นิคมสร้างตนเองสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดำเนินการรองรับการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกหรือ Bidding round รอบ 25 ได้ โดยกรมมีแผนจะเสนอรัฐบาลชุดนี้เพื่อดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ สร้างรายได้และกระตุ้นการหมุนเวียนในเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น
เรื่องที่สอง เรื่องการเจรจาข้อพิพาทพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลกับรัฐบาลประเทศกัมพูชา เพื่อสร้างความตกลงระหว่างประเทศในเรื่องผลประโยชน์และความมั่นคงด้านพลังงาน หากการเจรจามีความคืบหน้า และมีแนวทางที่ชัดเจนก็จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ต่อไปได้
อีกหนึ่งความท้าทาย ในปี 2567 ที่กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ต้องดำเนินการคือการเร่งติดตามการกำกับดูแลการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ ให้สามารถกลับมาผลิตในปริมาณที่กำหนดไว้ตามแผนงานได้โดยเร็วที่สุด นอกจากความมั่นคงด้านพลังงานจากการแสวงหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมแล้ว ความท้าทายอีกเรื่องหนึ่งที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตระหนักและดำเนินการควบคู่ไปเสมอคือการคำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม และในปี 2567 การดำเนินงานในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ก็เป็นอีกงานหนึ่งที่กรมจะผลักดันให้เห็นผลมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 โดยขณะนี้ก็ได้มีโครงการนำร่องด้านการกักเก็บ Co2 ในพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ และนอกจากนั้นก็ยังจำเป็นจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวให้มีความชัดเจน รวมทั้งอาจต้องมีการร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหามาตรการจูงใจด้านการค้าและการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แม้ว่าภารกิจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานจะไม่อาจสำเร็จลุล่วงทุกขั้นตอนภายในเวลาเพียงปีเดียว แต่หากสร้างความชัดเจน และกำหนดทิศทาง กรอบความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ จะช่วยให้การดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ ในลำดับถัดไป สามารถเดินหน้าโครงการต่างๆ ไปได้อย่างรวดเร็ว สามารถสร้างความต่อเนื่องจากการผลิตปิโตรเลียมในอนาคต เพื่อเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยอย่างยั่งยืน