2 รัฐวิสาหกิจกลุ่มพลังงาน “ปตท.-กฟผ.” ติด TOP5 นำส่งรายได้รัฐสูงสุดรอบ 9 เดือน ปีงบ 62

2030
- Advertisment-

ปตท. และ กฟผ. รัฐวิสาหกิจกลุ่มพลังงาน ติด 1 ใน 5 หน่วยงานที่นำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินสูงสุดช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2562 จากภาพรวมที่สามารถจัดเก็บเงินนำส่งเข้ารัฐรวมเป็นจำนวน 149,335 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 12 เนื่องมาจากผลประกอบการและฐานะทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รายงานการจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจในรอบ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.61 – มิ.ย.62) จำนวน 149,335 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 15,503 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ตามเป้าหมาย

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้แผ่นดินเป็นไปตามเป้าหมาย มาจากผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีกำไรสุทธิและฐานะทางการเงินที่ดี โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันในภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

- Advertisment -

ขณะที่ รัฐวิสาหกิจกลุ่มสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีรายได้มาจากการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ณ ช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2562 ประกอบด้วย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำส่งรายได้สูงสุด 32,628 ล้านบาท รองลงมาคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำส่งรายได้ 29,198 ล้านบาท, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 18,924 ล้านบาท, ธนาคารออมสิน 16,538 ล้านบาท, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 10,903 ล้านบาท และหน่วยงานอื่น ๆ จำนวน 41,145 ล้านบาท

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สคร. ยังกล่าวสรุปว่า ปีงบประมาณ 62 จะสามารถจัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมายทั้งปีที่ 168,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจที่ สคร. จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 12 จะมีส่วนช่วยให้รัฐบาลมีสเถียรภาพและเกิดความยั่งยืนทางการคลัง

Advertisment