กกพ.ดีเดย์เปิดซองราคาประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน 169 โครงการ 20 ก.ย. 2564 นี้ ระบุโครงการที่มีสายส่งรองรับและขอรับFiTต่ำกว่าคู่แข่ง มีโอกาสได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดเปิดซองราคาประมูล “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ปริมาณรับซื้อ 150 เมกะวัตต์”ในวันที่ 20 กันยายน 2564 นี้ และจะประกาศรายชื่อผู้ที่ชนะประมูลและได้สิทธิ์เข้าร่วมขายไฟฟ้าในโครงการวันที่ 23 กันยายน 2564
โดยมีโครงการที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและข้อเสนอทางเทคนิครวมทั้งสิ้น 169 ราย (มาจากผู้ผ่านข้อเสนอทางเทคนิค รอบปกติ 95 ราย และอีก 74 รายมาจากการยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณากับทาง กกพ.)
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า เกณฑ์ในการพิจารณาราคาซึ่งจะใช้วิธีการประมูลแข่งขันกันนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานราคาเพดานตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2563 ที่กำหนดราคาเพดานรับซื้อไฟฟ้าไว้ แบ่งเป็น 1. ชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คิดอัตราตามต้นทุนการผลิตที่แท้จริง หรือ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.8482 บาทต่อหน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ FiT ที่ 4.2636 บาทต่อหน่วย 2. ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) มี FiT ที่ 4.7269 บาทต่อหน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FiT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษ อีก 0.50 บาทต่อหน่วย ดังนั้นหากรายใดเสนอราคาขายไฟฟ้าต่ำที่สุดก็จะได้รับการพิจารณาก่อนเป็นหลัก
โดยโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ จะเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25%) 75 เมกะวัตต์ เสนอขายโครงการละไม่เกิน 3 เมกะวัตต์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กกพ.จะให้ความสำคัญกับโครงการที่มีระบบสายส่งรองรับ เป็นลำดับแรก และเลือกโครงการที่เสนอส่วนลดFiT เข้าระบบมาก่อน จากนั้นจึงเลือกผู้ที่เสนอราคารองลงมาเข้าระบบตามลำดับ ไปจนกว่า จะเต็มขีดความสามารถที่สายส่งจะรองรับได้ ในพื้นที่นั้นๆ โดยในกรณีที่มีการเสนอราคาเท่ากัน จะพิจารณาจากลำดับผู้ที่ยื่นเสนอขายไฟฟ้าเข้ามาก่อน ให้ได้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการก่อน ซึ่งวิธีการพิจารณาดังกล่าว ถือว่ามีความชัดเจนและจะไม่มีปัญหาเรื่องการร้องเรียนในภายหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนได้รับการตอบรับจากบริษัทด้านพลังงานที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยค่อนข้างมากเนื่องจากรัฐกำหนดอัตรา FiT ที่จูงใจและให้ผลตอบแทนการลงทุนกับเอกชนสูงกว่า การรับซื้อไฟฟ้าโดยทั่วไป ซึ่งเอกชนมีความเชื่อมั่นว่าการได้เข้าร่วมขายไฟฟ้าในโครงการจะช่วยผลักดันราคาหุ้นของบริษัทตัวเองให้สูงขึ้น
โดยตัวอย่างเอกชนที่เสนอขายไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติและข้อเสนอทางเทคนิค ที่น่าสนใจ อาทิ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH จำนวน 8 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 27 เมกะวัตต์
บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC 4 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 12 เมกะวัตต์
บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE จำนวน 29 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 93 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตเสนอขายรวม 78.85 เมกะวัตต์
บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI จำนวน 4 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้า 14 เมกะวัตต์
บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CWT) บริษัทในกลุ่มของ บริษัท ชัยวัฒนาฯ กรีน จำกัด จำนวน 12 โครงการ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวมไม่เกิน 36 เมกะวัตต์
โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯดังกล่าว ภาครัฐหวังให้ผลประโยชน์ตกถึงมือเกษตรกรและชุมชน ดังนั้นจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการแบ่งปันประโยชน์กันชัดเจน เช่น บริษัทที่ร่วมโครงการต้องมีการทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) กับวิสาหกิจชุมชนที่จะซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่องสำหรับเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รวมทั้งบริษัทต้องให้หุ้นบุริมสิทธิ 10% กับวิสาหกิจชุมชน และให้ผลตอบแทนกับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ส่วนไฟฟ้าที่ขายได้ก็จะต้องแบ่งเข้ากองทุนหมู่บ้าน ตามหลักเกณฑ์ของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนด้วย เป็นต้น
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เป็นโครงการที่คิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ในสมัยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และได้เข้าสู่การพิจารณาของ กพช.เมื่อ 11 ก.ย. 2562 โดย กพช.ในครั้งนั้นเห็นชอบกรอบการส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนรวม 1,933 เมกะวัตต์ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้บรรจุในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2561-2580 หรือ AEDP2018 แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี และส่งไม้ต่อมายังนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนฯ และเสนอ กพช.พิจารณาอีกครั้ง เมื่อ 16 พ.ย. 2563 โดยให้เป็นเพียงโครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์ เท่านั้น
อย่างไรก็ตามล่าสุด กพช.ได้เห็นชอบกรอบแผนพลังงานแห่งชาติของกระทรวงพลังงานแล้ว ซึ่งมุ่งเน้นพลังงานทดแทนมากขึ้น ดังนั้นอาจมีการพิจารณาทบทวนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ให้มีความสอดคล้องมากขึ้น