คาดเปิดรับซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุมชนได้เดือน มี.ค.64 นี้

3144
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เร่งหารือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีปลูกพืชเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ จะสามารถทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงเกษตรฯได้หรือไม่ เพื่อเป็นการการันตีให้เกษตรกรไม่ถูกเอาเปรียบหรือยกเลิกสัญญาภายหลัง ขณะที่ไทม์ไลน์การเปิดรับข้อเสนอโครงการฯคาดจะเริ่มได้ในเดือน มี.ค. 2564 จากนั้น เม.ย. จะเปิดข้อเสนอด้านราคา และรู้ผลผู้ชนะประมูลช่วง พ.ค.-มิ.ย. 2564 ต่อไป

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากว่า ขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างการหารือกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับเงื่อนไขการปลูกพืชเพื่อผลิตไฟฟ้า ว่า จะเข้าข่ายการทำเกษตรพันธสัญญา หรือ contract farming ระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกรได้เหมือนการปลูกพืชเพื่อบริโภคหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการผูกพันสัญญาการซื้อพืชจากเกษตรกรตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงเกษตรฯ และเป็นการรับรองให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ในหลักเกณฑ์ที่กำหนดผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการทุกรายต้องปฏิบัติตามสัญญาที่เป็นมาตรฐาน contract farming เหมือนกันทั้งหมด แต่หากไม่เข้าเงื่อนไข contract farming จะส่งผลให้ผู้ประกอบการแต่ละรายร่างสัญญาการซื้อขายพืชผลการเกษตรกับเกษตรกรแตกต่างกัน ซึ่งจะไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยรับผิดชอบได้ ความเสี่ยงก็จะตกอยู่กับเกษตรกรเป็นหลัก

- Advertisment -

สำหรับไทม์ไลน์การเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ นั้น กกพ.กำลังจัดทำระเบียบรับซื้อไฟฟ้า และร่างประกาศรับซื้อไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากฉบับเดิมที่เคยทำไว้ไม่เหมาะสมกับหลักเกณฑ์ใหม่ของโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งเท่ากับ กกพ.ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการใหม่อีกครั้ง แต่คาดว่าภายในเดือน ม.ค. 2564 นี้ จะออกระเบียบและประกาศดังกล่าวได้ จากนั้นในปลายเดือน ก.พ. 2564 จะเปิดรับฟังความเห็นประชาชน 15 วัน

อย่างไรก็ตาม บอร์ด กกพ.ได้พิจารณาไทม์ไลน์เบื้องต้นแล้ว โดยในเดือน มี.ค. 2564 จะเริ่มเปิดรับข้อเสนอโครงการ โดยให้เวลายื่นข้อเสนอประมาณ 5-7 วัน และจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการตรวจสอบข้อเสนอทางเทคนิค และในเดือน เม.ย. 2564 จะเปิดข้อเสนอด้านราคา ดังนั้นคาดว่าในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564 จะประกาศผู้ชนะประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯได้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทาง กกพ.จะไม่ทำหน้าที่จัดการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนเอง แต่จะให้ทางหน่วยงานการไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการเอง เหมือนกรณีโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการเอง เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เคยให้คำแนะนำว่า กกพ.ในฐานะหน่วยงานกำกับไม่ควรเข้าไปดำเนินการในหน่วยปฏิบัติ เพราะอาจจะทำให้เกิดความไม่เหมาะสมได้ ดังนั้นการประมูลรอบนี้จะเป็นหน้าที่ของการไฟฟ้าที่รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการเอง แต่ กกพ.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปสังเกตการณ์เพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อไป

สำหรับมติ กพช.เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2563 ได้เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง เป้าหมาย 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์

โดยชีวมวลกำหนดปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการและก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย ≤ 25 %) ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ

ทั้งนี้ มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) แบบแข่งขันทางด้านราคา โดยเพดานราคารับซื้อในส่วน ชีวมวล ที่เสนอขายมากกว่า 3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 4.2636 บาทต่อหน่วย และน้อยกว่า 3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 4.8482 บาทต่อหน่วย ส่วน ชีวภาพ เพดานอยู่ที่ 4.2 บาทต่อหน่วย

โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้เสนอเงื่อนไข สำหรับการแบ่งปันผลประโยชน์ อาทิ การให้หุ้นบุริมสิทธิ 10% ให้กับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า และการให้ผลประโยชน์อื่น ๆ ให้โรงไฟฟ้าและชุมชนทำความตกลงกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา เป็นต้น

 

 

Advertisment