ทิศทางนโยบายพลังงานหลังการปรับคณะรัฐมนตรีหากรัฐมนตรีพลังงานไม่ได้ชื่อ “สนธิรัตน์”
หลังนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งสัญญาณกับสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ (10 ก.ค. 2563 ) ว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้น หนึ่งในกระทรวงเป้าหมายที่มีการคาดหมายกันว่าจะมีการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ก็คือกระทรวงพลังงาน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ผู้เพิ่งร่วมแถลงข่าวลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไปเมื่อวานนี้เช่นเดียวกัน นั่งกำกับอยู่ ทิศทางนโยบายพลังงาน ภายใต้รัฐมนตรีพลังงานที่มาใหม่ จะเป็นอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์และติดตาม
มีการคาดหมายกันว่าการปรับครม.น่าจะเกิดขึ้นในเดือน สิงหาคม หรือ กันยายน นี้ นั่นหมายความว่า ในช่วงระยะเวลาอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้ งานที่ยังค้างมืออยู่ที่ นายสนธิรัตน์ จะมีบางเรื่องที่ทำได้สำเร็จ และจะยังมีอีกหลายเรื่อง ที่น่าจะยกยอดไปให้ รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ตัดสินใจว่าจะ สานต่อ ทบทวน หรือยกเลิก
ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานภายใต้การนำของนาย สนธิรัตน์ นั้น ชู นโยบาย พลังงานเพื่อทุกคน หรือ Energy for all โดยมุ่งหวังที่จะทำให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานกว่า7 หมื่นล้านบาท ลงไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน ทำให้มีการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ จากฉบับปัจจุบันคือ PDP 2018 ให้เป็น PDP 2018 rev1 ที่เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตลอดทั้งแผน รวม 1,933 เมกะวัตต์ และรับซื้อเข้าระบบภายในปี 2565 จำนวน 700 เมกะวัตต์ (แบ่งเป็นโครงการประเภท Quick win 100 เมกะวัตต์ และ ประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์ ) เข้ามาในแผน PDP ฉบับนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม แผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มาตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.2563 จนถึงขณะนี้ เกือบ 4 เดือน ก็ยังไม่สามารถเสนอเรื่อง ให้ ครม.เห็นชอบได้ ซึ่งทำให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่กล้าดำเนินการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ประเภท Quick Win ไปก่อนล่วงหน้า เพราะเกรงว่าอาจจะมีปัญหาในข้อกฏหมาย
ทั้งนี้ถึงแม้ว่า PDP 2018 rev1 จะผ่านความเห็นชอบจากครม.ภายในเดือน ก.ค.นี้ และมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแล้วก็ตาม แต่หากมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพลังงาน ตามที่คาดการณ์ไว้ โครงการดังกล่าวก็อาจจะถูกสั่งทบทวน ให้ชะลอโครงการ หรือยกเลิกไปก็ได้ เพราะยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA
นอกจากนี้ ยังมีโครงการด้านพลังงานทดแทนอื่นๆ ที่คาดว่าน่าจะต้องยกยอดไปให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ พิจารณา จากเดิมมีการระบุว่าจะดำเนินการภายในปี 2563 คือ การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ , การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 90 เมกะวัตต์ ,การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 60 เมกะวัตต์
การปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพลังงาน ที่มองกันว่าน่าจะทำให้นโยบายพลังงานที่นายสนธิรัตน์เริ่มต้นปูเรื่องเอาไว้ค่อนข้างดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนสะดุดลงไปด้วยนั้น ยังหมายถึงว่าตัวเลขผลประโยชน์จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่กระทรวงพลังงาน ประเมินตัวเลขเอาไว้ ว่า ปี 2563 จะเกิดเงินทุนหมุนเวียน 2,500 ล้านบาท และ ปี 2564 อีก 41,800 ล้านบาทนั้น หายไปด้วย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากหากไม่ได้รับการสานต่อ
ขณะที่ในเรื่องของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม นั้น นโยบายที่จะให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ที่เดิมกำหนดจะคิกออฟได้ในเดือน เมษายน นี้ ก็หวังด้วยว่ารัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ จะช่วยกดปุ่มเดินหน้าภายในปีนี้ด้วยเช่นกัน
หันมาดู เรื่องที่นายสนธิรัตน์ ทำออกมาเป็นผลงานที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม เรื่องใหญ่ๆคือ การทำให้กฟผ.และ ปตท.สามารถลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวหรือสัญญา Global DCQ ระยะเวลา 10 ปี มูลค่าสัญญากว่า 3.4 แสนล้านบาท ที่ยื้อกันมานานพอสมควรจบลงได้ ที่เหลือก็เป็นผลงานในเรื่องของการลดรายจ่ายให้ประชาชนด้านพลังงาน ทั้งการปรับสูตรราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่น การตรึงราคาก๊าซหุงต้มและเอ็นจีวี รวมทั้งการลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนเกือบทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 คิดเป็นวงเงินที่ประเมินเอาไว้รวมประมาณ 28,650 ล้านบาท รวมทั้งการจัดสรรงบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2563 วงเงิน 5,600 ล้านบาท ที่น่าจะจบภายในเดือนนี้
การปรับครม.ที่คาดหมายกันว่าจะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพลังงานผู้ที่จะมารับไม้ต่อจากนายสนธิรัตน์ จำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมองหาคนที่เป็นมืออาชีพที่เข้าใจบริบทเรื่องของพลังงานที่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของส่วนรวม เพราะกระทรวงพลังงานมีความสำคัญต่อทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนที่ต้องมีพลังงานใช้ไม่ขาดแคลน ในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสม ไม่ใช่กระทรวง ที่จะหยิบใครมานั่งก็ได้ตามโควต้าการเมือง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 ไม่เช่นนั้น ความผิดพลาดเชิงนโยบายด้านพลังงาน จะกลายเป็นต้นทุนพลังงานที่ประชาชนผู้ใช้พลังงานทุกคนต้องแบกรับ
บทความโดย-ทีมศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC )