คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เผยผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ยังไม่ต้องลดกำลังผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ ตามข้อเสนอของกฟผ.หลังพบความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนเริ่มปรับสูงขึ้นหลังจากรัฐคลายมาตรการล็อคดาวน์
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ กกพ. ได้ขอความร่วมมือให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เพื่อเลื่อนผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนปรับลดลงมากในช่วงที่ใช้มาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ (ล็อคดาวน์) เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และ กฟผ. ได้จัดทำแผนแนวทางที่จะให้ SPP ลดการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ ส่งให้ กกพ. พิจารณาแล้ว โดยเสนอให้มีการลดปริมาณการผลิตตั้งแต่ ร้อยละ 60-80 ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้น ล่าสุด กกพ.เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องให้ SPP ปรับลดปริมาณการผลิตลง
โดยหลังจากที่ภาครัฐคลายมาตรการล็อคดาวน์ ที่ส่งผลให้ประชาชนกลับมาทำงานตามปกติมากขึ้น โรงงาน และ ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดดำเนินการแล้วนั้น ได้ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าปรับเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงล็อคดาวน์ ในเดือน มี.ค.-เม.ย.2563 ที่ยอดใช้ไฟฟ้าหายไปประมาณ 2,000 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดเจนจึงมอบหมายให้ กฟผ. กลับไปหาข้อสรุปว่า ยอดใช้ไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงมาตรการล็อคดาวน์เท่าไหร่และกลับสู่ภาวะปกติหรือยัง
สำหรับแผนลดการผลิตไฟฟ้าของ SPP ที่กฟผ.ส่งให้กกพ.ในครั้งนี้ กกพ.จะเก็บไว้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการไฟฟ้า หากสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าปรับลดลงมากจากปัญหา COVID-19 หรือมีมาตรการล็อคดาวน์ในอนาคตต่อไป ส่วนกรณีในภาพรวมที่ปริมาณสำรองไฟฟ้ามีสูงเกิน 40% ของความต้องการใช้ทั้งประเทศโดยประมาณนั้น เป็นเรื่องที่ต้องปรับแก้ไขในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ที่จะระบุภาพรวมว่า โรงไฟฟ้าใหม่ควรเกิดขึ้นเท่าไหร่ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในอนาคต ซึ่งแนวทางปรับลดการผลิตไฟฟ้าของ SPP ดังกล่าวเป็นเพียงการบริหารจัดการไฟฟ้าระยะสั้น เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาการผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไปช่วยแก้ปัญหาลดสำรองไฟฟ้าไม่ได้ในระยะยาว