กรมเชื้อเพลิงฯประสานเชฟรอน-ปตท.สผ.มั่นใจเอราวัณ บงกช ผลิตก๊าซต่อเนื่องช่วงรอยต่อสัมปทาน-พีเอสซี

1944
- Advertisment-

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมั่นใจเดินเครื่องผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณและบงกชได้ต่อเนื่องในช่วงรอยต่อหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเพื่อเริ่มต้นระบบพีเอสซีในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วยความร่วมมือของเชฟรอน ที่แสดงความเป็นมืออาชีพระดับโลกในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาสัมปทานไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี ในแหล่งปิโตรเลียมกลุ่มเอราวัณและบงกช ซึ่งเหลือระยะเวลาอีกไม่ถึง 2 ปี เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมของผู้รับสัญญารายใหม่คือปตท.สผ.และมูบาดาลาปิโตรเลียมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ว่า สิ่งที่ดำเนินการไปแล้วคือการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในการเลือกแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 142 แท่นที่รัฐจะใช้ประโยชน์ต่อ ส่วนอีก 49 แท่นที่รัฐไม่ได้เลือกทางผู้รับสัมปทาน จะต้องรื้อถอนออกไป โดยมีการดำเนินการรื้อถอนไปแล้ว 7 แท่นก่อนหน้านี้ และปัจจุบันเหลืออยู่ 42 แท่นซึ่งอยู่ในแหล่งกลุ่มเอราวัณ ที่ผู้รับสัมปทานคือ เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จะต้องดำเนินการ

ทั้งนี้ในจำนวน 42 แท่นที่จะต้องมีการรื้อถอนนั้น งานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็จะต้องมาพิจารณาในรายละเอียดว่า แต่ละแท่นมีจำนวนหลุมผลิตอยู่กี่หลุม  โดยข้อมูลเบื้องต้นในส่วนของแหล่งเอราวัณ มีจำนวนหลุมผลิตอยู่ประมาณ 4,800 หลุม แต่เป็นหลุมที่ยังผลิตได้จริงประมาณ 1,000 หลุม ที่เหลือเป็นหลุมที่ผลิตไปจนหมดแล้ว  โดยการที่มีหลุมผลิตจำนวนมาก เพราะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของอ่าวไทยมีลักษณะเป็นกระเปาะเล็กๆ  ที่ขุดเจาะผลิตขึ้นมาใช้ได้ไม่นาน ปิโตรเลียมก็หมด ต้องเจาะหลุมใหม่ ส่วนหลุมที่ผลิตไปจนหมดแล้ว ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสละหลุม (well plug and abandonment)

- Advertisment -

ในขณะเดียวกันในส่วนของแท่นผลิตที่รัฐเลือกไว้ 142 แท่น ก็จะต้องมาบริหารจัดการเช่นกันว่าแต่ละแท่นมีจำนวนหลุมผลิตกี่หลุม เพราะจะมีจำนวนหลุมส่วนหนึ่งเช่นกันที่มีการผลิตไปจนหมดแล้ว เมื่อถึงวันสิ้นสุดสัญญาก็ต้องดำเนินการสละหลุมเช่นกัน นอกจากนี้กรมฯจะต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานระหว่างผู้รับสัมปทานเดิมคือเชฟรอน และผู้รับสัญญาใหม่ คือปตท.สผ. เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับช่วงการผลิตปิโตรเลียมหลังวันที่ 23 เม.ย.2565 ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของปตท.สผ.จะต้องเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณล่วงหน้า เพื่อวางแผนการเจาะหลุม ติดตั้งแท่นผลิตเพิ่มในจุดต่างๆ ทดแทนแท่นที่ถูกรื้อถอนออกไป โดยไม่ให้กระทบกับการผลิตที่ดำเนินการอยู่ของทางเชฟรอน รวมทั้งการ tie -in ระบบ  ตลอดจนประเด็นการถ่ายโอนพนักงานของเชฟรอน มาเป็นพนักงานของปตท.สผ. สุดท้ายแล้วจะออกมาในรูปแบบใดที่จะไม่ให้การทำงานช่วงรอยต่อติดขัด

” ที่ผ่านมาทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ก็เชิญทั้งเชฟรอนและปตท.สผ. มาหารือร่วมกันเป็นระยะๆ มาโดยตลอด ซึ่งทางเชฟรอนก็ให้ความร่วมมือกับกรมฯ ด้วยดี โดยในประเด็นที่แต่ละฝ่ายยังมีข้อกังวล กรมฯ ก็ช่วยประสานและอำนวยความสะดวกให้มีความมั่นใจ ว่าการทำงานช่วงรอยต่อจากสัมปทานไปสู่พีเอสซีจะไม่มีอะไรที่ติดขัด โดยที่มีข้อตกลงร่วมกันที่ชัดเจน ” นายสราวุธกล่าว

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสัมปทานไปสู่พีเอสซี เป็นเรื่องใหม่และมีความสำคัญต่อประเทศไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่า เชฟรอน จะยังคงรักษาชื่อเสียงของตัวเองเอาไว้ โดยที่ผ่านมา เชฟรอนถือเป็นมหามิตรที่ช่วยประเทศไทยในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาอย่างต่อเนื่อง และมีผลประโยชน์ร่วมกันจากการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้

“อย่างไรก็ตาม ด้วยวิวัฒนาการของแต่ละประเทศ ที่ถึงจุดหนึ่งผู้เล่นในประเทศสามารถทำได้เองในราคาที่ถูกกว่า ที่เป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จึงเชื่อว่าในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ในความเป็นมืออาชีพของเชฟรอน คงช่วยให้การดำเนินการที่ได้ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องตลอด 40 ปี ให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น“ นายสราวุธ กล่าว

สำหรับการเตรียมความพร้อมในส่วนของกรมฯ เกี่ยวกับการบริหารระบบพีเอสซี ร่วมกับปตท.สผ. ที่เป็นผู้รับสัญญา นั้น กรมฯ ได้มีการจัดตั้งกองพีเอสซีขึ้นมาใหม่ และไม่ตั้งคนในระดับผู้อำนวยการเข้าไปอยู่เลย เพื่อที่จะแยกให้ชัดว่าจะไม่มีการใช้อำนาจของกรมเชื้อเพลิงฯ เข้าไปแทรกแซงงานในกองนี้ ที่จะต้องดีลกับผู้รับสัญญา คือปตท.สผ.โดยตรง โดยปตท.สผ.จะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และรายงานกันกับหน่วยนี้ ว่าจะทำอะไรบ้าง  หากเกินอำนาจการอนุมัติจึงค่อยนำเสนอคณะอนุกรรมการพีเอสซี พิจารณา ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว  ซึ่งทุกอย่างน่าจะมีความพร้อมที่จะดำเนินการต่อเนื่องได้ทันทีหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานทั้งเอราวัณและบงกช

Advertisment