เผยรัฐบาลจีนหนุนนโยบายเศรษฐกิจไทย มองEEC สอดรับนโยบาย One Belt One Road 

1085
- Advertisment-

“สมคิด”เยือน ปักกิ่ง ร่วมถกรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของจีน เผยรัฐบาลจีนหนุนนโยบายเศรษฐกิจไทย มุ่งส่งเสริมเขตอีอีซี เป็นศูนย์กลางภูมิภาค ขณะที่  ททท. เร่งเครื่องบุกตลาดจีน ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ หนุนคนจีนออกมาท่องเที่ยวไทย 

เมื่อวันที่7 พ.ย.2561  นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีของไทย พร้อมคณะได้เข้าหารือกับ นายหาน เจิ้ง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ทำเนียบรัฐบาล จงหนานไห่  โดย นายหาน เจิ้ง ได้กล่าวชื่นชม การปาฐกถาพิเศษในงาน Chaina International Import Expo (CIIE) งานมหกรรมนานาชาติการนำเข้า ของนายสมคิด  โดยเห็นด้วยกับข้อเสนอของไทย ที่จะส่งเสริมความร่วมมือทั้งแบบทวิภาคี และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในหลายมิติ ทั้งในส่วนของกลุ่มยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ACMEC) อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง  และกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้ง (CLMVT) เพื่อเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคเอเชียใต้  หลังจากรัฐบาลจีน ญี่ปุ่นส่งเสริมภาคเอกชนทั้งจีนและญี่ปุ่นออกไปขยายการลงทุนในประเทศที่ 3  โดยนายสมคิด ได้กล่าวในเวทีสัมมนาว่า เขตอีอีซี ของไทย จะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญซึ่ง รองรับนโยบาย One Belt One Road  ของจีน ในการกระจายสินค้าออกไปยังภูมิภาคอื่น

จากนั้น นายสมคิด พร้อมคณะเข้าหารือกับ นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐ  สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ เรือนรับรองรัฐบาลเตี้ยวหยูไถ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน  โดยทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบเอกสารยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน (Comprehensive Framework on Enhancing Trade and Economic Partnership between the Thailand and China) มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสองประเทศเป็นผู้ลงนาม มุ่งเน้นการยกระดับความร่วมมือ 7 ด้าน ได้แก่

- Advertisment -

1) ด้านการค้า ร่วมมือเพื่อขยายการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน China International Import Expo เป็นประจำทุกปี ส่งเสริมความร่วมมือการค้าสินค้าเกษตร และให้จัดประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน และคณะทำงานสนับสนุนการค้าอย่างไร้อุปสรรคเป็นประจำ

2) ด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร อาหารเพื่ออนาคต และการบินและโลจิสติกส์

3) ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เสริมสร้างความร่วมมือผ่านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้เมืองนวัตกรรมอาหารของไทย (Food Innopolis) เป็นพื้นที่ในการทำวิจัยและพัฒนา เข้าร่วมโครงการสำรวจความร่วมมือด้านอวกาศของจีน

4) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่งเสริมความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เทคโนโลยี 5G และการลงทุนในอุทยานดิจิทัลในไทย โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งเคเบิ้ลใต้น้ำ และโครงข่ายใยแก้วนำแสง

5) ด้านการเงิน ส่งเสริมการใช้เงินบาทและเงินหยวนในการทำธุรกรรมทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

6) ด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยว  เช่น การถ่ายทำภาพยนตร์ การบริการเรือข้ามฟาก และธุรกิจบริการน้ำพุร้อน

7) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค  หนุนภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-จีน ส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคผ่านความร่วมมือภายใต้เขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (PPRD) กรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (GBA) กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS)

สำหรับจีนนับว่ามีความสำคัญในฐานะเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และนักลงทุนอันดับ 3 ของไทย มีประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน ทำให้จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกที่มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการดำเนินการตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ไทยได้พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจกับจีนมาอย่างต่อเนื่อง  ​​ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ในขณะที่ไทย เป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 15 และเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2560 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 73,670.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 11.9 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์

ด้านนายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้หารือกับผู้บริหารบริษัท ไชน่า ทราเวล เซอร์วิส (CTS) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยทาง CTS ต้องการให้ไทยเร่งประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในจีน ภายหลังจากที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า 21 ประเทศ  คาดว่าเป้าหมายนักท่องเที่ยวของจีนไม่ต่ำกว่า 10.5 ล้านคนต่อปี  ขณะนี้ ททท. เร่งสรุปรายละเอียด เพื่อนำบริษัททัวร์นำเที่ยว และสายการบิน ร่วมจัดโปรโมชั่น ลดราคา โดยมีทั้งสายการบินเที่ยวบินประจำ และเช่าเหมาลำ ร่วมนำนักท่องเที่ยวจีนกลับไทย โดยเฉพาะสายการบินสปริงแอร์ สายการบินโลว์คอสต์ขนาดใหญ่ของจีน ได้ประสานความร่วมมือ กับสำนักงานททท.เมืองกว่างโจว และคุนหมิง ร่วมทำโปรโมชั่นส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการททท. กล่าวว่า หลังจากที่ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ อนุมัติยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า On arrival  จะทำให้ยอดนักท่องเที่ยวจีนช่วงสองเดือนสุดท้าย คือเดือนพ.ย.-ธ.ค.61  ที่คาดว่าจะติดลบ จะขยับมาเพิ่มขึ้น คาดว่า นักท่องเที่ยวในภาพรวมของสองเดือนสุดท้ายสูงถึง 1.65 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2  ส่งผลให้ภาพรวมนักท่องเที่ยวจีนตลอดทั้งปีทำยอดได้ 10.77 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปีก่อนหน้า

Advertisment