​กกพ. ประกาศเพิ่ม​ FiT​ พลังงานหมุนเวียน​ ที่เข้าระบบตั้งแต่ปี​ 58-63 ระบุเฉพาะปี​ 63​ ผู้ใช้ไฟช่วยจ่ายอุดหนุนกว่า​ 5.3​ หมื่นล้านบาท

5511
N2032
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​ ​(กกพ.) ประกาศอัตรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน FiT ประจำปี 2564 ใหม่ สำหรับกลุ่มชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ ที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2558-2563 ที่ผ่านมา โดยปรับขึ้นเล็กน้อยตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน​ เผยภาระการอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน​ เฉพาะปี​ 2563​คิดเป็นวงเงินรวม 53,168 ล้านบาท โดยเป็นภาระที่ประชาชนต้องร่วมจ่ายที่บวกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าประมาณ 31.22 สตางค์ต่อหน่วย

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน​ ( Energy​ News​ Center-ENC​)​ ราย​งานว่า​
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน​(กกพ.) ได้ออกประกาศอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in-Tariff)ในส่วนผันแปร​(FiTv) สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ประจำปี 2564 ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ​ (กพช.) ที่ให้ปรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ FiT ประเภทเชื้อเพลิงต่างๆ สำหรับโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2560 และภายหลังปี 2560 อัตรา FiT จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน ดังนั้น กกพ.จึงได้ปรับอัตรา FiT จากพลังานหมุนเวียนประจำปี 2564 ที่เป็นประเภทชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ โดยแบ่งเป็น 8 ประเภทดังนี้

1.อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน​ (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์ ) ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบการให้เงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า​( Adder) เป็นการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง​ (FiT) ของ พ.ศ. 2558 แบ่งเป็น ประเภทชีวมวล ได้แก่ กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ได้รับอัตรา FiT อยู่ที่​ 2.2563 บาทต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 2.2498 บาทต่อหน่วย ส่วนที่มากกว่า 3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 1.8888 บาทต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 1.8833 บาทต่อหน่วย

- Advertisment -

ส่วนประเภทก๊าซชีวภาพ​ (จากพืชพลังงาน) ได้ FiTที่ 2.6034 บาทต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 2.5959 บาทต่อหน่วย และประเภทเชื้อเพลิงขยะ​ (การจัดการขยะแบบผสมผสาน) สำหรับกำลังผลิตไม่เกิน3 เมกะวัตต์ ได้ FiT ที่ 3.2773 บาทต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 3.2678 บาทต่อหน่วย ส่วนที่มากกว่า 3 เมกะวัตต์ ได้ FiT ที่ 2.7464 บาทต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 2.7384 บาทต่อหน่วย

2.อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก​ (VSPP) ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน​ (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ FiT ปี 2559 (ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส และ 4 อำเภอในจ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี) ประเภทชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ได้รับ FiT ที่ 2.2563 บาทต่อหน่วย และที่มากกว่า 3 เมกะวัตต์ ได้ FiT ที่ 1.8888 บาทต่อหน่วย

3.อัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน​ (โครงการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล) ในช่วงเปลี่ยนผ่านจาก Adder เป็น FiT พ.ศ.2559 ประเภทชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ได้รับ FiT ที่ 2.2563 บาทต่อหน่วย และที่มากกว่า 3 เมกะวัตต์ ได้ FiT ที่ 1.8888 บาทต่อหน่วย

4.อัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ FiT สำหรับประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558-2562 แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ต่อยอดจากเตาเผาขยะอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ก่อนวันที่ 16 ก.พ. 2558 รวมถึงโรงไฟฟ้าใหม่และโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีพลาสม่า จะได้รับ FiT ที่ 2.7464 บาทต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 2.7384 บาทต่อหน่วย

5.อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากการจัดหาไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ FiT พ.ศ. 2559 ประเภท ขยะ​ (การจัดการขยะแบบผสมผสาน) ที่มีกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ จะได้รับ FiT ที่ 3.2773 บาทต่อหน่วย และที่มากกว่า 3 เมกะวัตต์ จะได้รับ FiT ที่ 2.7464 บาทต่อหน่วย

6.อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ SPP Hybrid Firm พ.ศ. 2560 ได้รับ FiT อยู่ที่ 1.8888 บาทต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 1.8833 บาทต่อหน่วย

  1. อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล พ.ศ. 2561 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ ได้รับ FiT ที่ 2.2563 บาทต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 2.2498 บาทต่อหน่วย และที่มากกว่า 3 เมกะวัตต์ ได้FiT ที่ 1.8888 บาทต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ1.8833 บาทต่อหน่วย

และ 8. อัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลรายเล็ก พ.ศ. 2563 ประเภทชีวมวล ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และที่มากกว่า 10 เมกะวัตต์ ได้รับ FiT ที่ 1.8888 บาทต่อหน่วย สูงขึ้นจากปี 2563 ที่อยู่ระดับ 1.8833 บาทต่อหน่วย

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า กกพ. ได้ชี้แจงว่า เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ภาระการอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนคิดเป็นวงเงินรวม 53,168 ล้านบาท โดยคิดเป็นภาระที่ประชาชนต้องร่วมจ่ายที่บวกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าประมาณ 31.22 สตางค์ต่อหน่วย และคาดว่าในเดือน ม.ค.-เม.ย. 2564 นี้ ยังคงต้องใช้เงินอุดหนุนประมาณ 18,269 ล้านบาท กระทบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) 33.57 สตางค์ต่อหน่วย

อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2564 จะมีโครงการผลิตไฟฟ้าหลายโครงการที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปแล้ว ทยอยผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม, โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน, โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ทำให้คาดว่าทั้งปี 2564 ผลกระทบจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเข้าระบบดังกล่าวจะยังคงทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30 สตางค์ต่อหน่วย
สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ได้รับเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(Adder) อัตรา 8 บาทต่อหน่วย ที่มีสัญญาระยะ 10 ปี นั้น คาดว่าจะมีการผลิตไฟฟ้าครั้งสุดท้ายและหมดกลุ่มที่ได้รับ Adder ในปี 2567 เนื่องจากกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับAdder มีการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2567 นี้

Advertisment