ไฮไลท์พลังงาน 2020

1626
- Advertisment-

ไฮไลท์พลังงาน 2020

ตลอดทั้งปี คศ.2020 หรือ พ.ศ. 2563 ถือเป็นปีที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลกระทบที่เกิดขึ้น ในขณะที่แวดวงพลังงานเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงานก็มีเหตุการณ์สำคัญที่เป็นไฮไลท์ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งทีมศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) ได้รวบรวมบางเรื่องที่เห็นว่าน่าสนใจ มานำเสนอให้ได้ติดตามดังต่อไปนี้

- Advertisment -

1. พิษไวรัสโควิด-19 กระทบความต้องการใช้พลังงานทั้ง น้ำมัน-ก๊าซ-ไฟฟ้า

นับตั้งแต่เชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในเมืองไทยเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563  ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และรัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ให้คนทำงานที่บ้าน หรือ work from home  ลดการขนส่งเดินทาง เพื่อหวังที่จะหยุดการแพร่ระบาดในช่วง 3 เดือนแรก คือ มี.ค.-พ.ค.2563  ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานของประเทศ แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่เห็นชัดคือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศในปีนี้ ลดต่ำกว่าปีที่แล้ว ถึงประมาณ 4,000 เมกะวัตต์

โดยข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อัพเดทข้อมูลอย่างเป็นทางการล่าสุด จนถึง 9 เดือนแรก ( ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2563 สรุปภาพรวม การใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 3.1 โดยลดลงในเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาธุรกิจที่มีการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ โรงแรม และห้างสรรพสินค้า ที่มีการใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 36.5 และร้อยละ 16.8 ตามลำดับ

การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 12.4 (ดีเซล ลดลงร้อยละ 2.9 เบนซินและแก๊สโซฮอล์ ลดลงร้อยละ 2.3 ) ที่ลดลงมากที่สุดคือน้ำมันเครื่องบิน ลดลงร้อยละ 57.7 เนื่องจากข้อจำกัดของการอนุญาตให้ทำการบินในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ขณะที่การใช้ LPG ลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่ง ลดลงร้อยละ 27.6

การใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลงร้อยละ 7.4 โดยลดลงทุกสาขาเศรษฐกิจ

ส่วนก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลงร้อยละ 29.5

2. รัฐเทเกือบหมดหน้าตัก ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบประชาชน จากโควิด-19

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้รัฐเข็นมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะด้านพลังงานออกมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาคธุรกิจและประชาชนโดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 28   ธ.ค. 2563  สรุปมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ระดมออกมาช่วยตลอดทั้งปี  ภายใต้นโยบายที่กระทรวงพลังงานกำกับดูแลรวมมูลค่ากว่า 49,836 ล้านบาท

โดยมาตรการที่มีการเข้าไปช่วยเหลือมีอาทิ

การลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสุทธิที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วลงอีก 3% และลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าครอบคลุม 22 ล้านครัวเรือน ตั้งแต่ เม.ย. – มิ.ย. 2563 รวมระยะเวลา 3 เดือน

การคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้า  ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้ากว่า 23 ล้านราย

การผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 ประเภทที่ 4 ประเภทที่ 5 ประเภทที่ 6 และประเภทที่ 7 เริ่มต้นตั้งแต่ เม.ย. – มิ.ย. 2563 รวม 3 เดือน และมีการขยายระยะเวลาต่อเนื่องไปจนถึง สิ้น มี.ค. 2564

มาตรการปลดล็อคเอทานอลภาคเชื้อเพลิง ที่มีมากกว่า 1 ล้านลิตรต่อวัน มาผลิตเจลแอลกอฮอล์ เพื่อให้มีปริมาณแอลกอฮอล์สำหรับใช้ในการป้องกันโควิด-19 อย่างเพียงพอ

มาตรการลดราคา NGV  และตรึงราคาก๊าซหุงต้มหรือ LPG

มาตรการลดสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งประสบปัญหาการใช้น้ำมันที่ลดลงมาก

 

3. โควิด-19 ซ้ำเติมปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin) ให้ล้นระบบมากขึ้น

ความต้องการใช้ไฟฟ้าปรับลดลง จากผลกระทบของโควิด-19 และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ ทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศปรับพุ่งขึ้นสูงเกิน 50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด จากปกติควรอยู่ระดับ 15%  โดยการที่มีปริมาณสำรองไฟฟ้าในระบบมากเกินความจำเป็นที่ต้องสำรองไว้เพื่อความมั่นคงของระบบ ก็จะกลายเป็นภาระต้นทุนที่ประชาชนต้องแบกรับไว้ในค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาแนวทางลดปริมาณสำรองไฟฟ้า โดยมีนายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่น่าจะมีความชัดเจนก่อนกลางปี 2564

ทั้งนี้ในแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ต.ค.2563 ที่ผ่านมา มีข้อมูลคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ปี 2563 อยู่ที่ 32,732 เมกะวัตต์ แต่พีคไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเดือน มี.ค. 2563 อยู่ที่ 28,636 เมกะวัตต์ ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ซึ่งจะเข้าระบบปี 2563 จะมีมากถึง 51,943 เมกะวัตต์  จึงทำให้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่ในระบบมากถึง 23,307 เมกะวัตต์ )

สำหรับแนวทางลดสำรองไฟฟ้าเบื้องต้นที่เตรียมไว้ ได้แก่ การลดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เหลือเพียงนำร่อง 150 เมกะวัตต์ จากเดิมมีแผนรับซื้อรวม ประมาณ 1,933 เมกะวัตต์

รวมทั้งการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ การคมนาคมขนส่งรถไฟฟ้าสายต่างๆ เพื่อเพิ่มดีมานด์ ควบคู่กันไปกับการลดกำลังผลิตไฟฟ้าในระยะสั้นลง เช่น การยกเลิกหรือเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าออกไป ,การเจรจาเพื่อปลดโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพต่ำออกจากระบบก่อนกำหนด หรือ Buy Out  เป็นต้น

4.  การปรับ ครม.เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพลังงาน  /ตั้ง  ซีอีโอ ปตท.และ ผู้ว่าการ  กฟผ. คนใหม่แทนคนเก่าที่ครบวาระ

ในปี 2563 นี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในกระทรวงพลังงานและรัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลที่สำคัญถึง 3 ตำแหน่ง ได้แก่

1.ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยวันที่ 16 ก.ค. 2563  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีมีการปรับคณะรัฐมนตรี  โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซึ่งควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาแทน คือ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตซีอีโอ PTTGC  โดยมีการปรับเปลี่ยนนโยบายที่ นายสนธิรัตน์ วางเอาไว้ทั้ง ปริมาณรับซื้อไฟฟ้าและหลักเกณฑ์พิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน รวมทั้งนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ที่ให้เดินหน้าต่อตามมติ กพช.เดิม และให้ตั้งคณะทำงานที่มีนายณอคุณ  สิทธิพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อมาศึกษาแนวทางและนำเสนอต่อ กบง.และกพช.พิจารณาอนุมัติ

2. ตำแหน่ง ซีอีโอ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) โดยบอร์ด ปตท.ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2562 มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์  ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ดำรง ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คนที่10 แทน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ในวันที่ 12 พ.ค. 2563

โดยนายอรรถพล ประกาศพร้อมนำองค์กรฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้วย 4 R และ PTT by PTT
ซึ่งแนวทาง 4 R  คือ Resilience   Restart Reimagination  และ Reform  ที่จะมีการจัดโครงสร้างองค์กร รูปแบบธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต พร้อมรองรับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดแบบไม่คาดคิด  ด้วยแนวคิด PTT by PTT  หรือ Powering Thailand’s Transformation หรือ PTT ที่มุ่งหวังทำให้กลุ่ม ปตท. เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทย ที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิตของคนไทย

3. ตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)คนที่ 15 โดยหลังจากนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 14 ครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 3 ธ.ค. 2563 คนที่มาแทนที่เป็นผู้ว่าการ กฟผ.คนที่ 15 ก็คือ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่เริ่มปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 2563 จนถึง 22 ส.ค. 2566  ซึ่งมีการเปิดตัวกับสื่อมวลชนช่วงกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมารวมถึงการปรับสไตล์การบริหารแบบ “ยืดหยุ่น ทันการณ์ ประสานประโยชน์” โดยใช้แนวคิด EGAT for All ที่มองว่า กฟผ.เป็นของคนไทยทุกคน และทำเพื่อทุกคน เพื่อเดินหน้าเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานครบวงจร สอดรับกับยุค Digital Disruption และ New Normal

4. เปลี่ยนนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนฉบับสนธิรัตน์ เป็น โรงไฟฟ้าชุมชนฉบับ สุพัฒนพงษ์

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป้าหมายรับซื้อ 1,933 เมกะวัตต์ ถูกบรรจุไว้ในแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่ทว่านายสนธิรัตน์ไม่สามารถผลักดันนโยบายดังกล่าวให้สามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้สำเร็จ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปก่อน   ซึ่งเมื่อมาถึงมือ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ใหม่  ให้ประมูลแข่งขันราคา รวมทั้งลดปริมาณการรับซื้อเหลือเพียงเป็นโครงการนำร่องไม่เกิน 150 เมกะวัตต์  แบ่งเป็นชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ 75 เมกะวัตต์   คาดว่าต้นปี 2564 จะสามารถเปิดขายเอกสารให้ผู้ที่สนใจได้

5. เพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน ให้จูงใจภาคครัวเรือนมากขึ้น

หลังจากที่เปิดตัวโครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือโซลาร์ภาคประชาชน ปริมาณ รับซื้อ 100 เมกะวัตต์ ด้วยอัตรารับซื้อที่  1.68 บาทต่อหน่วย ในช่วงที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อปี 2562 ปรากฏว่า ไม่ประสบความสำเร็จ มีผู้เข้าร่วมโครงการน้อยมากเพียง 2-3 เมกะวัตต์ เพราะมองว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าต่ำเกินไป ไม่จูงใจ  เมื่อมาถึงยุคนายสนธิรัตน์ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน ก็มีการปรับลดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ลงเหลือ ปีละ 50 เมกะวัตต์  จนมาถึงมือนายสุพัฒนพงษ์ เลยนำเรื่องเข้าที่ประชุม กพช.เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา และได้อนุมัติให้ดำเนินการ 2 ส่วน คือ ปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจาก 1.68 บาทต่อหน่วยเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย มีเป้าหมายการรับซื้อ 50 เมกะวัตต์ ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ทั้งนี้ ให้ครอบคลุมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่และที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว
และอีกส่วนให้ขยายผลการดำเนินโครงการฯ ไปยังกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ในอัตรา 1.00 บาทต่อหน่วย แบ่งเป็น กลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา 20 เมกะวัตต์ กลุ่มโรงพยาบาล 20 เมกะวัตต์และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์

นโยบายดังกล่าวน่าจะทำให้วงการค้าขายแผงโซลาร์เซลล์และธุรกิจรับติดตั้งโซลาร์บนหลังคากลับมาคึกคึก เพราะอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่จูงใจมากขึ้น โดยกระทรวงพลังงานประเมินว่าในปี 2564 น่าจะมีเม็ดเงินจากการลงทุนด้านนี้กว่า 3,000 ล้านบาท

6.ชะลอการเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจปิโตรเลียม รอบใหม่  (รอบที่ 23 )

ช่วงที่นายสนธิรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีการปักหมุดว่าจะคิกออฟการเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจปิโตรเลียม รอบใหม่  (รอบที่ 23 ) ในเดือนเมษายน 2563 แต่ก็มีการเลื่อนแผนออกไปเพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19  จนมาถึงช่วงของ นายสุพัฒนพงษ์ ก็ได้สั่งการให้เลื่อน ออกไปพิจารณาในปี 2564 ที่สถานการณ์โควิด-19 น่าจะคลี่คลาย  แต่การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ในเดือน ธ.ค.2563 ก็ทำให้ไม่แน่ใจว่า เรื่องดังกล่าวจะถูกเลื่อนออกไปนานแค่ไหน

ทั้งนี้ประเทศไทยไม่ได้เปิดให้มีการยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาตั้งแต่ปี 2550 หรือนานกว่า 13 ปีแล้ว

7.เชฟรอนกลับสู่กระบวนการยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการ เรื่องค่าใช้จ่ายการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม

ถือเป็นเรื่องใหญ่ระหว่างประเทศที่กระทรวงพลังงานในยุคที่นายสุพัฒนพงษ์ เป็นรัฐมนตรีไม่อยากจะพูดถึงมากนัก เพราะกลัวเสียรูปคดี  กรณีที่ เชฟรอน แห่งสหรัฐอเมริกา ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ  ฟ้องรัฐไทย ให้พิจารณาความเป็นธรรมเรื่องค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมหลังสิ้นสุดอายุสัมปทานแหล่งเอราวัณในปี 2565  เฉพาะส่วนที่รัฐรับโอนนำไปใช้ประโยชน์ต่อ

โดยภาครัฐคือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ต้องการให้เชฟรอน วางหลักประกันค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมดรวมทั้ง 142 แท่นที่รัฐรับโอนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อ ในขณะที่เชฟรอนยืนยันจะยอมรับค่าใช้จ่ายเฉพาะ 49 แท่นที่รัฐไม่ได้รับโอนไป

โดยเรื่องดังกล่าว เมื่อเดือน ต.ค 2562 ในช่วงที่นายสนธิรัตน์ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน ได้ไปเจรจาให้ ทางเชฟรอน  แห่งสหรัฐอเมริการะงับกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่จะยื่นฟ้องต่อรัฐไทยเอาไว้ชั่วคราว เพื่อให้มีการเจรจาหาข้อยุติระหว่างกันภายใน 180 วัน หรือภายใน มี.ค. 2563   แต่การเจรจาดังกล่าวไม่เป็นผล จนทำให้ เชฟรอน แห่งสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ อีกครั้ง  ในช่วงที่นายสุพัฒนพงษ์  เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

8 .กฟผ.​ และ ปตท. ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาว หรือสัญญา Global DCQ​ มูลค่าสัญญากว่า 3.4 แสนล้านบาท

หลังจากที่เจรจากันมานานนับตั้งแต่สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวระหว่าง  กฟผ.และ ปตท.สิ้นสุด เมื่อปี 2558  ในที่สุด วันที่ 19 มิ.ย. 2563  ช่วงที่นายสนธิรัตน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ทั้ง ปตท.และ กฟผ. ก็มีการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาว หรือสัญญา Global DCQ

โดยสาระสำคัญของสัญญาคือ  ปตท.จะเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้า ทั้งหมดของ กฟผ. ได้แก่ บางปะกง พระนครใต้ พระนครเหนือ วังน้อย จะนะ (ยกเว้นโรงไฟฟ้าน้ำพอง) เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยมีมูลค่าสัญญากว่า 3.4 แสนล้านบาท ปริมาณซื้อขายก๊าซฯสูงสุด 736 พันล้านบีทียู แต่ปตท.จะมีความยืดหยุ่นให้ กฟผ.สามารถจัดหาและนำเข้า LNG ได้เองในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โดยที่ ปตท. จะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องของท่าเรือ คลังและสถานีรับจ่ายก๊าซรวมทั้งการส่งผ่านทางท่อส่งก๊าซ เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการดำเนินการ

ทั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานต่างมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ที่มีบทบาทในการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

Advertisment