ไม่น่าเชื่อ! ภูเก็ต ครองแชมป์ขาดแคลนไฟฟ้าครัวเรือนมากสุดในภาคใต้

2499
- Advertisment-

ไม่น่าเชื่อ! เปิดข้อมูลพลังงานภาคใต้ จ.ภูเก็ต ที่เป็นเมืองแห่งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามัน มีประชาชนขาดแคลนไฟฟ้าใช้มากที่สุดถึง 2,408 ครัวเรือน รองลงมาคือ พังงา 1,391 ครัวเรือน และ ชุมพร ขาดแคลนไฟฟ้า 1,243 ครัวเรือน โดยในภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ และต้องดึงไฟฟ้าภาคกลางรวมทั้งนำเข้าจากมาเลเซียเพื่อเสริมระบบมาโดยตลอด

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ในการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดภูเก็ตและการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 2-3 พ.ย. 2563 ของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ทางพลังงานจังหวัดในพื้นที่ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ได้สรุปข้อมูลด้านพลังงานที่สำคัญเพื่อรายงานต่อที่ประชุม โดยข้อมูลที่น่าสนใจ พบว่า ในปี 2562 พื้นที่ภาคใต้ของไทย มีครัวเรือนที่ขาดแคลนไฟฟ้าใช้มากถึง 7,999 ครัวเรือน โดยจังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้มากที่สุดถึง 2,408 ครัวเรือน รองลงมาคือพังงา ขาดแคลนไฟฟ้าอยู่ 1,391 ครัวเรือนและ ชุมพร ขาดแคลนไฟฟ้า 1,243 ครัวเรือน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระหว่างการตรวจราชการที่จังหวัดภูเก็ต

ทั้งนี้ ในภาพรวม พบว่าภาคใต้มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ แม้จะมีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 119 แห่ง กำลังการผลิตรวม 3,412 เมกะวัตต์ แต่ความต้องการใช้ยังมากกว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่ จนต้องอาศัยไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 เควี จากภาคกลางเข้ามาเสริมความมั่นคงส่วนหนึ่งและต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียอีกประมาณ 300 เมกะวัตต์

- Advertisment -

ทั้งนี้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ได้กำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าภาคใต้ เพื่อเสริมความมั่นคง โดยให้สร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎ์ธานี กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก มีกำหนดเริ่มการซื้อขายไฟฟ้า(SCOD) ในปี 2570 และปี 2572

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้ ซึ่งจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขนาดกำลังผลิต 1,700 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่ปลดออกจากระบบตามอายุการใช้งาน โดยจะ SCOD ในปี 2577 และ 2578 ซึ่งจะช่วยให้ ณ สิ้นปี 2580 ภาคใต้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 8,638 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น

โรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2,835 เมกะวัตต์ คิดเป็น 33%

โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) 930 เมกะวัตต์ คิดเป็น 11%

โรงไฟฟ้าใหม่ 1,700 เมกะวัตต์ คิดเป็น 20%

โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP) 405 เมกะวัตต์ คิดเป็น 5%

โรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก(VSPP) 2,097 เมกะวัตต์ คิดเป็น 24%

รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 300 เมกะวัตต์ คิดเป็น 3%

มาตรการอนุรักษ์พลังงาน 371 เมกะวัตต์ คิดเป็น 4%

ทั้งนี้หากแบ่งตามเชื้อเพลิงจะพบว่า ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าจะนะ(ชุดที่ 1 และชุดที่2 ) จ.สงขลา และโรงไฟฟ้าขนอม กำลังการผลิตรวม 2,263.10 เมกะวัตต์ นอกจากนี้เป็น โรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมัน 1 แห่ง 340 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 17 แห่ง 41.87 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่ง 241.64 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม 7 แห่ง 137.94 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 57 แห่ง 149.71 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล 27 แห่ง 216.62 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะ 4 แห่ง 21.32 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาคใต้อาศัยก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงหลัก ดังนั้นหากมีการซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ หรือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินกับแหล่งก๊าซฯในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA-A18) ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงกับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา และต้องเปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงแทน ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงในระบบไฟฟ้าภาคใต้เป็นอย่างมาก

 

Advertisment