คณะรัฐมนตรี(ครม.) 2 ประเทศ ไทย-มาเลเซีย ไฟเขียวขยายสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพิ่มอีก 10 ปี ในแหล่งก๊าซธรรมชาติ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) หลังหมดสัญญาในปี 2571 เพื่อให้การผลิตก๊าซฯ เกิดความต่อเนื่องระยะยาว พร้อมทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ใหม่ ให้แหล่ง B-17 ในพื้นที่ JDA ส่งก๊าซฯ ให้ไทย 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จนถึงปี 2568 ช่วยเสริมปริมาณก๊าซฯ ในประเทศ หลังก๊าซฯ แหล่งเอราวัณ ผลิตได้น้อย
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ของ 2 ประเทศ คือ ไทยและมาเลเซีย ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบและอนุมัติขยายสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) อีก 10 ปี ในแหล่งก๊าซธรรมชาติ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) หลังจากหมดอายุในปี ค.ศ.2028 หรือ ปี พ.ศ.2571 ซึ่งจะทำให้ไทยและมาเลเซียผลิตก๊าซฯ ได้ต่อเนื่องระยะยาว
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบร่วมกันในสัญญาก๊าซธรรมชาติ โดยเปลี่ยนแปลงให้จัดส่งก๊าซฯ ในแหล่ง JDA แปลง B-17 จำนวน 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเข้ามาที่ไทย จนถึงปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ.2568) ทั้งนี้เพื่อช่วยเสริมปริมาณก๊าซฯ ให้ไทย เพราะแหล่งก๊าซฯ เอราวัณยังผลิตได้น้อยเกือบ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (จากสัญญา PSC กำหนดให้ผลิต 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ผลิตปิโตรเลียมรายใหม่ แต่คาดว่ากำลังการผลิตจะทยอยเพิ่มขึ้น จนถึงสิ้นปี 2565 นี้ จะเหลือปริมาณก๊าซฯ ที่ขาดอยู่อีก 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่ต้องหามาเสริมระบบต่อไป
แหล่งข่าว ปตท.สผ. ให้ข้อมูลว่า แหล่งก๊าซฯ JDA แบ่งเป็นแปลง A-18 และ B-17 ซึ่งแหล่ง A-18 ผลิตก๊าซฯ ได้รวม 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยส่งเข้าไทย 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่เหลือส่งให้มาเลเซีย ส่วนแปลง B-17 มีกำลังผลิต 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งเข้ามาเลเซีย 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งสัญญาก๊าซในอดีตยังไม่มีก๊าซที่ส่งให้ไทย แต่เนื่องจากปัญหาแหล่งเอราวัณผลิตได้น้อย ทำให้ไทยเจรจาเบื้องต้นขอให้ส่งก๊าซฯ 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากแปลง B-17 มาให้ไทย และเริ่มมีการส่งก๊าซฯ เข้ามาเมื่อเดือน เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา จากนั้นได้มีการเจรจาและนำมาซึ่งสัญญาก๊าซฯ ที่จะส่งให้ไทย 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันไปจนถึงปี 2568 นี้