ไทยเล็งเก็บก๊าซคาร์บอนฯในหลุมเจาะปิโตรเลียมอ่าวไทย ชี้มีศักยภาพ 2,700 ล้านตัน

1064
- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน กางแผนจัดการก๊าซคาร์บอนฯ ยืนยันทำได้ตามเป้าหมาย นายกฯ ที่กำหนดให้ไทยเกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนในปีค.ศ. 2050 พร้อมเล็งใช้หลุมขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทยกักเก็บคาร์บอน คาดเก็บได้ถึง 2,700  ล้านตัน ระยะ 100 ปี ด้านปลัดพลังงานระบุคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กำลังพิจารณากฎหมายการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานทดแทน 100% ในพื้นที่ EEC  

วันนี้ 8 มิ.ย. 2565 สถาบันวิทยาการพลังงาน ได้จัดเสวนา “Energy Transition to the Next 2050 ภารกิจพลังงาน เปลี่ยนอนาคต” โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายโมฮัมเหม็ด บิน ฮามัด อัล รุมมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและสินแร่ ประเทศโอมาน, นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน  รวมถึงภาคเอกชน เช่น  นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  ร่วมเสวนา

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในหัวข้อทิศทางของประเทศไทยสู่ Green Energy & Economy ว่า  ยืนยันว่าประเทศไทยมีแนวทางจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นสัญญาในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ( COP 26) ซึ่งได้ประกาศเป้าหมายที่ไทยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี ค.ศ. 2065

- Advertisment -

ปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 350 ล้านตันต่อปี โดยแนวทางไปสู่ความกลางทางคาร์บอน ในปีค.ศ. 2050 นั้น แบ่งเป็น 1. ด้านไฟฟ้า ได้ตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าให้ต่ำกว่า 50% จากปัจจุบันใช้อยู่ 70% โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศระยะยาว หรือ PDP ระยะ 10 ปีข้างหน้า จะเน้นที่พลังงานสะอาด ราคาไม่แพง และมีศักยภาพ ซึ่งกระทรวงพลังงานจะประกาศแผนเร็วๆนี้

2.เพิ่มสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านจาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 15,000 เมกะวัตต์ และระยะยาวจะให้พลังงานทดแทนเป็นพลังงานหลักของประเทศ 3.ภาคขนส่ง ซึ่งปัจจุบันปล่อยคาร์บอนฯ อยู่เกือบ 100 ล้านตันต่อปี ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนมาส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) แทน และกำหนดนโยบาย 30@30 หรือการผลิตรถ EV ให้ได้ 30%  ภายในปี ค.ศ.2030 โดยในช่วง 2 ปีแรกจะให้มีการผลิตให้ได้ 10% ของการผลิตรถทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามขณะนี้มี 4 บริษัทสนใจเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถ EV ในไทยแล้ว

4. การลดใช้พลังงานและการประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและอาคาร โดยปรับเป้าหมายใหม่ให้ลดการใช้พลังงานให้ได้ 40% จากเป้าหมายเดิมกำหนดไว้ 30% ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ จาก 50 ล้านตันต่อปี เหลือ 40 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ตามยังเหลือคาร์บอนอีกกว่า 100 ล้านตันที่ต้องดำเนินการ

5. การปลูกป่าเพิ่ม ซึ่งจะช่วยดูดซับคาร์บอนฯได้อีกส่วนหนึ่ง แต่ยังเหลืออีก 30-40 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาแนวทางฝังกลบลงในหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งคาดว่ามีพื้นที่เก็บได้ถึง 2,700 ล้านตัน ดังนั้น 30 ล้านตันที่เหลือน่าจะเอาไปเก็บได้ถึง 100 ปี

ทั้งนี้ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปีค.ศ. 2050 จะต้องทำทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เนื่องจากต่างประเทศใช้เรื่องคาร์บอนฯ เป็นตัวกีดกันทางการค้า ซึ่งไทยต้องให้ความสำคัญ โดยการลดคาร์บอนฯ จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากขึ้น และจะมีผลให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในประเทศขึ้นด้วย

นายโมฮัมเหม็ด บิน ฮามัด อัล รุมมี (H.E. Dr. Mohammed bin Hamad Al Rumhy) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและสินแร่ ประเทศโอมาน กล่าวผ่านระบบประชุมทางไกลว่า การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ซึ่งเป็นวาระสำคัญระดับโลก โอมานในฐานะผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายหนึ่งและเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปก มองว่า นานาชาติต้องร่วมมือและหาทางออกด้วยกัน ทั้งยังต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน มุ่งหน้าไปด้วยกันอย่างอดทน

ทั้งนี้การตัดสินใจใช้เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนแล้วนำมาใช้ประโยชน์เป็นทางเลือกที่ดี เพราะในระยะ 30-40 ปีข้างหน้า โอมานก็ยังคงต้องผลิตและยังไม่สามารถยกเลิกการใช้น้ำมัน ซึ่งในกระบวนการผลิตน้ำมันก็ต้องยอมรับว่าเป็นกระบวนการที่ก่อให้เกิดคาร์บอนรวมทั้งก๊าซมีเทน ที่เป็นตัวการสร้างภาวะโลกร้อน ดังนั้นในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและการใช้พลังงานฟอสซิล ไปสู่พลังงานที่สะอาดกว่า จึงควรต้องนำเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนมาใช้

แต่ความท้าทายที่สุดคือการสนับสนุนทางการเงิน เพราะการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้การลงทุนสูงมาก แต่เนื่องจากทั้งโอมานและไทย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ล้วนเป็น ส่วนหนึ่งของหมู่บ้านโลก (global village) ทุกประเทศจึงต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อโลก

รัฐมนตรีพลังงานโอมานกล่าวชื่นชมว่า ประเทศไทยทำได้ดีมากในเชิงเศรษฐกิจ มีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมพลังงานที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งยังก้าวไวในพันธกิจสังคมคาร์บอนต่ำ ความท้าทายอาจมีอยู่ แต่ก็เปิดโอกาสใหม่ ๆในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีใหม่ ๆจะนำไปสู่เป้าหมายได้ แต่ก็ต้องสร้างความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และเอ็นจีโอ ทุกภาคส่วนต้องมีความอดทนก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน มันไม่ง่าย ต้องอดทนก้าวไป และมองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “แผนพลังงานชาติ สู่เป้าหมายการลด GHG” โดยระบุว่า กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนแผนพลังงานแห่งชาติไปสู่ภาคการปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน รองรับการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ภายใน 20 ปี โดยภาครัฐจะต้องดำเนินการทั้งเรื่องการปรับโครงสร้างพื้นฐาน ขยายแรงดันระบบส่งไฟฟ้าเป็น 500 เควี และ800 เควี ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้จัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการระบบไฟฟ้าร่วมกับ 3 การไฟฟ้า(กฟผ.,กฟภ.,กฟน.) โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และได้มีการประชุม กำหนดรายละเอียดในการทำงานร่วมกันไปเมื่อเร็วๆนี้

เรื่องการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการจัดทำ Venture Capital (กองทุนร่วมลงทุน) ร่วมกับสตาร์ทอัพในด้านพลังงานใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังขาดเงินทุน ก็จะต้องเข้าไปร่วม อีกทั้ง ทาง กฟผ.ยังได้จัดตั้ง บริษัท อินโนพาวเวอร์ เพื่อเป็นเครื่องมือแสวงหาการร่วมทุนกับสตาร์ทอัพ เพื่อให้นวัตกรรมต่างๆเกิดขึ้นได้จริง

และเรื่องกฎหมาย ปัจจุบัน กระทรวงพลังงาน กำลังร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ออกเรื่องของ Green Tariff เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีความต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือ RE 100 เพื่อผลิตสินค้า ป้องกันการกีดกันการส่งออกสินค้า จึงจำเป็นต้องออกมาตรฐานมารองรับการซื้อขายไฟฟ้าตรงจากผู้ซื้อและผู้ขายพลังงานสะอาด

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2564 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ที่ 244.5 ล้านตัน และ 2 ใน3 หรือ ประมาณ 157 ล้านตัน มาจากภาคการผลิตไฟฟ้าถึง 36% ภาคขนส่ง 28% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ปล่อยอยู่ที่ 30% และภาคเกษตรกรรม ปล่อยอยู่ที่ 5% โดยสาเหตุที่ ภาคไฟฟ้าและขนส่ง ปล่อยคาร์บอนฯ รวมกันสูงถึง 64% เนื่องจากมีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งน้ำมัน,ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติในปริมาณมาก

โดยภาคพลังงาน แม้ว่า ก๊าซฯจะเป็นเชื้อเพลิงสะอาดแต่ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งประเทศไทยเอง มีการใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนถึง 70% ถ่านหิน 17% น้ำมัน 0.3% พลังน้ำ 2% และพลังงานหมุนเวียน 11% ขณะที่ภาคขนส่ง แม้ว่าจะมีเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า(EV) แต่ก็มีการใช้รถ EV อยู่ที่ 10,000 คัน ซึ่ง 96% ยังใช้น้ำมันอยู่

ดังนั้น กระทรวงพลังงาน ได้วางนโยบาย 4D คือ 1.DECARBONIZATION ลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตไฟฟ้า โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ตามแผน PDP 2022 ตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 4,500 เมกะวัตต์ ใน 20 ปี โดยมาจากโซลาร์ลอยน้ำ 9 เขื่อนของ กฟผ. 1,000-2,700 เมกะวัตต์ โซลาร์รูฟท็อป 200 เมกะวัตต์ โซลาร์ฟาร์ม 3,300 เมกะวัตต์ พลังงานลม เพิ่มจาก 300 เป็น 1,500 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรม จะเพิ่มเป็น 600 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชุมชน 800 เมกะวัตต์ ซึ่งมีโครงการนำร่องแล้ว 150 เมกะวัตต์ รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน

นอกจากเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว ยังต้องดำเนินการเรื่องการกักเก็บคาร์บอน ปัจจุบัน ปตท.สผ.ได้ทดลองดำเนินการกับแท่นผลิตปิโตรเลียมในแหล่งอาทิตย์แล้ว และบนบกทดลองที่แหล่งสินภูฮ่อม โรงงาน BLCP จะเปลี่ยนคาร์บอนให้เป็นเมทานอล และเรื่องของไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ที่จะต้องดำเนินการด้วย

2.DIGITALIZATION คือ การนำเรื่องของ Internet of Things (IoT) เข้ามาใช้ในภาคพลังงาน หรือ Internet of Energy ที่เป็นการใช้ AI ในการจัดเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทำเรื่องของสมาร์ทมิเตอร์ การทำเรื่อง Digital Twin เข้ามาใช้คำนวณเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าในโลกเสมือนจริง และต้องมีระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เข้ามาเสริมให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร

 3.DECENTRALIZATION คือ การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ด้วยระบบโครงข่ายไมโครกริด เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบ และขายผ่านระบบออนไลน์ได้

และ 4.DE-REGULATION  ซึ่งจะต้องปรับปรุงเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ ให้รองรับการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปตท. กำลังอยู่ระหว่างตั้งเป้า Net Zero ของบริษัทฯ และจะประกาศเป้าหมายพร้อมแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน แต่ยืนยันว่าจะเป็นเป้าหมายที่เร็วกว่าที่ภาครัฐประกาศไว้ในปี ค.ศ. 2065 แน่นอน โดยแนวทางเบื้องต้นที่จะดำเนินการ เช่น ทาง บริษัท ปตท.สผ. จะดำเนินการอัดเก็บคาร์บอนในหลุมการผลิตปิโตรเลียมอ่าวไทย ซึ่งมีศักยภาพกักเก็บได้ 40 ล้านตันต่อปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทำโครงการต้นแบบในแหล่งอาทิตย์ นอกจากนี้ได้ศึกษาการผลิตพลังงานไฮโดรเจน รวมทั้งการปลูกป่า 3.1 ล้านไร่ น่าจะช่วยดูดซับคาร์บอนได้  4.1 ล้านตันต่อปี

เรื่องพลังงานทั้งโลกกำลังเผชิญความท้าทายต้องสร้างสมดุล 3 ด้านคือ ด้านความมั่นคงพลังงาน ราคาพลังงาน และสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยในด้านความมั่นคงพลังงานนั้น ถือว่าบริหารจัดการได้ค่อนข้างดี ส่วนด้านราคานั้นต้องเน้นที่การประหยัดพลังงานเป็นหลัก  ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมควรทำในบริบทที่เหมาะสมกับไทยและไม่โดนกีดกันทางการค้า และองค์กรใหญ่ต้องช่วยองค์กรเล็ก ประกาศ Net Zero ให้เร็วกว่าประเทศ ซึ่งการทำสิ่งแวดล้อมนั้นต้องใช้คำว่า   “ช้าไปก็ไม่ได้จะโดนกดดัน เร็วไปก็ไม่ดี”

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า กฟผ. ได้กำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมายของ กฟผ. เพื่อมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” ประกอบด้วย 1.S – Sources Transformation ที่จะดำเนินการภายใต้ 3 เรื่องหลัก คือ เรื่องที่ 1 เป็นการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ โดยมีโครงการหลัก ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2036

เรื่องที่ 2 กฟผ. ยังได้วางแนวทางการลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม  

เรื่องที่ 3 มองหาพลังงานแห่งอนาคต ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2044 โดยตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ 66,000 ล้านหน่วย ภายในปี ค.ศ. 2050 เบื้องต้นทดลองใช้ที่เขื่อนลำตะคอง

“เดิม ตามแผน PDP กฟผ.ได้รับอนุมัติผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันถือว่าน้อยเกินไป กฟผ.จึงเสนอขอทำมากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ และเทคโนโลยีโซลาร์ฯในอนาคตก็จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีแนวโน้มถูกลงด้วย”

2. S – Sink Co-creation เป็นการดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม โดยโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ใน 10 ปี ซึ่งจะร่วมมือกับพันธมิตร ปลูกป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ ระหว่างปี ค.ศ. 2022 – 2031 ปีละประมาณ 100,000 ไร่ โดย กฟผ. ยังได้วางแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) ในปี ค.ศ. 2045 เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5 – 7 ล้านตัน อีกด้วย

3.S – Support Measures Mechanism เป็นกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม โดย กฟผ. ดำเนินโครงการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าและช่วยหลีกเลี่ยงการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า อาทิ โครงการฉลากเบอร์ 5 การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การเสริมสร้างทัศนคติภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ

รวมถึงการดำเนินการและวางกลไกสนับสนุนโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว(BCG) ที่ช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ พร้อมมีแผนจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ ซึ่งจะร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน  และยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐในการผลักดันกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง

Advertisment