ไทย เดินหน้าซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มเติมต่อเนื่องตามแผนพีดีพีใหม่ โดยกำลังการผลิตใหม่กว่าอีก 1,400 เมกะวัตต์ จะเข้าระบบ ในปี 2568 และช่วงปี2573-2578 อีก2,100เมกะวัตต์ รวมเป็น 3,500 เมกะวัตต์
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ว่าขณะนี้ ไทยรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวไปแล้วเกือบ 6,000 เมกะวัตต์ ตามกรอบข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ไทย-สปป.ลาว ที่ได้ลงนามไว้ก่อนหน้านี้ จำนวน 9,000 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าส่วนที่เหลือก็จะดำเนินการรับซื้ออย่างต่อเนื่อง และสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ฉบับใหม่หรือ พีดีพี 2018 ที่กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว อยู่ที่ 3,000-3,500 เมกะวัตต์ ในช่วง 20 ปีข้างหน้า
โดยจะเริ่มรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มเติมจากสัญญาเดิมอีก1,400 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2568-2569 และเพิ่มอีก 2,100 เมกะวัตต์ ในปี 2573-2578
ทั้งนี้ จะหารือกับ นายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว ในโอกาสที่เดินทางมาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ ของไทย และ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ในโครงการเขื่อนน้ำงึม 1 และโครงการเขื่อนเซเสด เกี่ยวกับกรอบการพัฒนาความร่วมมือการรับซื้อไฟฟ้าระหว่างกัน ทั้งในส่วนตามแผนพีดีพี 2018 และเพิ่มเติมเรื่องการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบไฟฟ้าทั่วอาเซียน (Asean Power Grid) ในโครงการซื้อขายไฟฟ้า สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบัน สปป.ลาว ขายไฟฟ้าให้มาเลเซียผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าของไทย 100 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาเชื่อมโยงการขายไฟฟ้าให้สิงค์โปร์ และเมียนมา โดยหวังว่าราคาไฟฟ้าที่ขายให้สิงคโปร์ มาเลเซีย และเมียนมา จะมีต้นทุนราคาที่ไม่สูงมากนัก ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านไฟฟ้าร่วมกัน
นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังมีแผนจะศึกษาการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าในลุ่มแม่น้ำโขง ที่ไม่ใช่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ โดยมีลักษณะเป็นฝายน้ำล้น หรือ Run of River อย่างเช่นเขื่อนไซยะบุรีที่หลวงพระบาง ทำให้ลาวจะมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนมากขึ้น ส่งผลให้ไทยอาจจำเป็นต้องปรับแผนการรับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกันด้วยเพื่อเพิ่มช่องทางการขายไฟฟ้าให้ สปป.ลาว เพื่อส่งผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้มากขึ้น