บริษัท กมลาไสย ไบโอ เพาเวอร์ 2010 ยื่นหนังสือถึง “พีระพันธุ์“ คัดค้าน มติที่ประชุม กพช. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 กรณีรับซื้อไฟฟ้าจากการต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น Feed-in Taiff (FIT) ในราคาหน่วยละ 2.28 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำเกินไปจนผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบชีวมวลปรับตัวสูงขึ้นมาก
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ นางปาริฉัตร์ สรรพมงคลไชย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กมลาไสย ไบโอ เพาเวอร์ 2010 จำกัด ได้ทำหนังสือถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดย คัดค้าน มติที่ประชุม กพช. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าจากการต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น Feed-in Taiff (FIT) ในราคาหน่วยละ 2.28 บาท โดยให้เหตุผลว่าราคาค่าไฟฟ้า หน่วยละ 2.28 บาท ซึ่งเป็นอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบคงที่ ไม่ได้มีความแปรผันตามค่าเชื้อเพลิงชีวมวลแต่ละประเภทในแต่ละฤดู นั้นทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเฉลี่ยในการผลิตไฟฟ้า 1 หน่วย เพิ่มสูงขึ้นกว่าอัตราที่รับซื้อ ทำให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าไม่สามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ทั้งนี้นโยบายการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก ของภาครัฐ ทำให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ปรับเพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา และราคาเชื้อเพลิงก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นด้วย เช่น แกลบ Rice Husk จาก 500 บาทต่อตัน เป็น 2,000 บาทต่อตัน , ไม้ฟืน 500 บาทต่อตัน ปรับเพิ่มเป็น 800 บาทต่อตัน ทะลายปาล์ม 150 บาทต่อตัน เพิ่มเป็น 300-350 บาทต่อตัน ในปัจจุบัน ในขณะที่ ต้นทุนการผลิตทั้งค่าใช้จ่ายก่อสร้างโรงไฟฟ้า เครื่องจักรในระบบการผลิตไฟฟ้า ค่าจ้างแรงงาน เงินกู้จากสถาบันการเงิน ก็มีต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นกัน
สำหรับ บริษัท กมลาไสย ไบโอ เพาเวอร์ 2010 จำกัด (บริษัท) ถือเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก VSPP กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ขายกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปริมาณ 8.00 เมกะวัตต์ ได้รับการส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเป็นการส่งเสริมในรูปแบบ การให้ส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าหรือ Adder โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวลที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า เช่น แกลบจากโรงสีข้าว, เศษไม้จากโรงเลื่อย, ทะลายปาล์มเปล่าจากโรงหีบน้ำมันปาล์ม, ชานอ้อยจากโรงหีบ และถือเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมากที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น