ภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยและมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้สูงถึง 2,624 เมกะวัตต์ (ข้อมูลความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2561 จากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ.) และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3,291 เมกะวัตต์ ในปี 2565 (ค่าพยากรณ์ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP2018 Rev. 1) เพื่อตอบสนองต่อธุรกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องรวมถึงอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยมีโรงไฟฟ้าขนอม ในกลุ่มบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย ที่ช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้มายาวนานกว่า 40 ปี (นับตั้งแต่โรงฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 เดินเครื่องเชิงพาณิชย์) และปัจจุบันยังคงเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำคัญขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับภาคใต้อย่างต่อเนื่อง โดยโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 มีกำลังผลิตติดตั้ง 970 เมกะวัตต์ หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้
แต่เดิมโรงไฟฟ้าขนอมเป็นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อมาได้โอนโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 1, 2 และ 3 ให้บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ซึ่งอยู่ในกลุ่มเอ็กโก ในปี 2538 เพื่อมาดำเนินการในรูปแบบของโรงไฟฟ้าเอกชนประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ (IPP) โดยมีกำลังผลิตติดตั้งรวม 824 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 กำลังผลิตติดตั้ง 75 เมกะวัตต์, หน่วยที่ 2 กำลังผลิตติดตั้ง 75 เมกะวัตต์ และหน่วยที่ 3 กำลังผลิตติดตั้ง 674 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 1, 2 และ 3 ได้หมดอายุสัญญาการผลิตไฟฟ้าไปแล้ว แต่มีการสร้างโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 ขึ้นมาทดแทน ซึ่งเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2559 มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟผ. จำนวน 930 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี หรือจนถึงปี 2584
หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า โรงไฟฟ้าขนอมแต่ละหน่วยการผลิตมีความสำคัญในแต่ละช่วงเวลาของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2522 โดยการก่อสร้างตัวเรือและโรงไฟฟ้าแบบสำเร็จมาจากประเทศญี่ปุ่น และลากจูงจากญี่ปุ่นมาติดตั้งพร้อมใช้งานที่อำเภอขนอม ระยะทาง 3,000 ไมล์ทะเล ใช้เวลาเดินทาง 18 วัน จนมาถึงไทยเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2523 และนำมาติดตั้งเสร็จเมื่อ 15 ตุลาคม 2523 และจ่ายไฟฟ้าเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2524 ซึ่งวิธีนี้ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 2 ปี เร็วกว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าวิธีอื่น โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 จึงมีความสำคัญในการช่วยแก้ไขสถานการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าในภาคใต้ได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้น
–
อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 นี้ ได้หมดอายุสัญญาผลิตไฟฟ้าไปแล้วเมื่อปี 2554 และปัจจุบันได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม (Khanom Learning Center) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนด้านพลังงานไฟฟ้าและกระบวนการผลิตไฟฟ้า สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ซึ่งเปิดให้เข้าเยี่ยมชมตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2562 เป็นต้นมา โดยศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัด “นิทรรศการเสมือนจริงศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม (Virtual Exhibition)” https://www.egco.com/khanomlearningcenter/ เพื่อมอบประสบการณ์ท่องโลกเรียนรู้พลังงานไฟฟ้าแบบออนไลน์ทุกที่ทุกเวลา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนได้จัด “มหกรรมวิทยาศาสตร์” อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ล่าสุด ได้รับรางวัลระดับประเทศ “Museum Thailand Awards 2021” ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และรางวัลระดับภูมิภาค “Asia Responsible Enterprise Awards 2021” (AREA 2021) ด้าน Investment In People
ส่วนโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 2 ถือเป็นโครงการเร่งด่วนของ กฟผ. ที่นำเสนอไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 เพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าในภาคใต้ และ ครม. อนุมัติให้ก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2529 โดยการติดตั้งอุปกรณ์โรงไฟฟ้ามาจากประเทศเกาหลีใต้ ทำการบรรทุกโรงไฟฟ้าบนเรือขนส่งขนาดใหญ่มายังไทย และมาติดตั้งในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2532 มีกำลังผลิตติดตั้ง 75 เมกะวัตต์ ปัจจุบันโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 2 แห่งนี้ ได้ถูกรื้อถอนออกไปแล้วเมื่อปี 2563 เพราะหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559
สำหรับโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 3 เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก และสามารถใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรองได้ นอกจากนี้ได้ถูกออกแบบให้นำความร้อนจากไอเสียร้อนของเครื่องกังหันก๊าซทั้ง 4 เครื่อง มาเป็นพลังความร้อนในการต้มน้ำ ให้กลายเป็นไอน้ำที่มีแรงดันสูงไปขับดันเครื่องกังหันไอน้ำเพื่อเป็นต้นกำลังสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วย โดยมีกำลังผลิตติดตั้ง 674 เมกะวัตต์ ทั้งนี้โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 3 ได้ถูกรื้อถอนออกไปแล้ว เนื่องจากหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ในเดือนมิถุนายน 2559
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าขนอมผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องมาถึงหน่วยที่ 4 แล้ว โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง 970 เมกะวัตต์ และมีสัญญาขายไฟฟ้ากับ กฟผ. จำนวน 930 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 25 ปี หรือถึงปี 2584 ซึ่งโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยมีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จากแหล่งผลิตในอ่าวไทย มีการวางท่อจากแหล่งผลิตมาถึงโรงแยกก๊าซธรรมชาติขนอม ซึ่งจะส่งต่อมาที่โรงไฟฟ้าขนอม โดยมีความต้องการใช้ก๊าซฯ สูงสุดประมาณ 230 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
นอกจากภารกิจผลิตไฟฟ้าแล้ว โรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 4 ยังมีเจตจำนงในการ “เป็นโรงไฟฟ้าต้นแบบในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน” ด้วยการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอย่างเกื้อกูล โดยมีผู้บริหารเป็นแบบอย่างในการดำเนินกิจกรรมเพื่อชุมชน ส่งผลให้การทำกิจกรรมเพื่อชุมชนเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของพนักงานทุกคนและทุกระดับขององค์กร โดยเฉพาะการจัดโครงการส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการ “ขนอมโมเดล” ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการสาธิตเกษตรอินทรีย์แบบ Smart Farm เพื่อสร้างวงจรการผลิตอาหารที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้คนในชุมชนขนอม เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน โครงการ “ข้าวใหม่ปลามัน” ที่สนับสนุนให้เกษตรกรนำผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้ในท้องถิ่นของตนเองมาแลกเปลี่ยนกัน ตลอดจนการจ้างงานบุคลากรในท้องถิ่นที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่
–
ด้วยศักยภาพและความพร้อมของทำเลที่ตั้ง ซึ่งมีระบบสายส่งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของระบบส่งไฟฟ้าในภาคใต้ การมีโครงสร้างพื้นฐานด้านท่อส่งก๊าซธรรมชาติรองรับ และที่สำคัญเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความสัมพันธ์ที่ดี ได้รับการยอมรับจากชุมชนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน เอ็กโก กรุ๊ป ได้เสนอกระทรวงพลังงานให้พิจารณาบรรจุโครงการโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 5 ในปลายแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2022)
ตลอดเส้นทางการดำเนินธุรกิจและการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างเกื้อกูลกว่า 4 ทศวรรษ โรงไฟฟ้าขนอมได้อยู่คู่กับภาคใต้เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าของภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจ ชุมชนและสังคมภาคใต้ ตลอดจนประเทศไทยเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
อ้างอิง:
http://www.eppo.go.th/images/Infromation_service/NEWS/2018/04Apr/PDP_30-4-2018.pdf
http://www.eppo.go.th/images/Infromation_service/public_relations/PDP2018/PDP2018Rev1.pdf