โยน กพช. ชี้ชะตา ต่ออายุรับซื้อไฟฟ้า SPP Cogeneration

292
- Advertisment-

กบง. ยังไม่ได้ข้อสรุปต่ออายุโรงไฟฟ้า SPP Cogeneration 25 ราย ที่มีกำหนดสิ้นสุดสัญญาขายไฟระหว่างปี 2560-2568 ระบุมีรายละเอียดต้องหารือเพิ่มเติม จึงต้องเสนอให้ กพช. พิจารณาแนวทางที่ชัดเจนอีกครั้ง

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในวันนี้ (9ส.ค. 2561) ที่มี นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระสำคัญๆ รวมถึง แนวทางการต่ออายุการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนราย เล็ก (SPP) ประเภทพลังความร้อนร่วม (Cogeneration) ที่จะหมดสัญญาในช่วงปี 2560-2568 จำนวน 25 ราย ปริมาณการ ผลิตเกือบ 2,000 เมกะวัตต์ ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เคยมีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ให้ดำเนินการต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้า SPP Cogeneration อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กบง. ในวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ  เนื่องจากยังมีรายละเอียดที่ต้องหารือและปรับปรุงจากมติ กพช. เดิม จึงเตรียมเสนอให้ที่ประชุม กพช. พิจารณาเพื่อสรุปรายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป โดยคาดว่าจะมีการประชุม กพช. ในเร็วๆนี้ หลังจากที่ต้องเลื่อนการประชุมออกไปจากกำหนดเดิม 3 ส.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานประธาน กพช. ติดภารกิจ

ผู้สื่อข่าว ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่าความล่าช้าในการดำเนินการต่ออายุโรงไฟฟ้า SPP Cogeneration ทั้งๆที่ กพช. มีมติไปเมื่อ 2 ปีที่ มีผล กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นรายใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าของผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ทั้ง 25 รายนี้ โดยต่างกังวลว่าหากโรงไฟฟ้า SPP ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันตามกำหนด จะกระทบต่อความเสถียรและเสี่ยงต่อการขาดแคลนกระแสไฟฟ้า ซึ่งการเกิดไฟฟ้าตกดับในกระบวนการผลิตแต่ละครั้ง จะสร้างความสูญเสียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีออโตเมชั่นในระบบผลิต อีกทั้งไม่สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ต้องการเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องในโครงการดังกล่าว

- Advertisment -

นอกเหนือจากวาระ SPP Cogeneration ที่ประชุม กบง. รับทราบสถานการณ์ราคา LPG ตลาดโลก (CP) เดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 587.50 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 25.00 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากเดือน ก.ค. ที่อยู่ในระดับ 562.50 เหรียญสหรัฐ/ตัน อย่างไรก็ตาม กบง. ได้มีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกก๊าซ LPG ไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยใช้เงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ราคาขายปลีก LPG ภาคครัวเรือนขนาดถัง 15 กก.อยู่ที่ 363 บาท ตลอดเดือน ก.ค.

ที่ประชุม กบง. ยังรับทราบความก้าวหน้าการส่งเสริมใช้น้ำมันดีเซล B20 เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนจากค่าบริการขนส่งและค่าโดยสารรถสาธารณะ รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มดิบล้นตลาด และสร้างเสถียรภาพปาล์มน้ำมันว่า มีผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่เข้าร่วมโครงการและได้รับความเห็นชอบให้จำหน่าย B20 ได้จำนวน 5 ราย ได้แก่ ปตท. บางจาก ไออาร์พีซี ซัสโก้ พี.ซี.สยามปิโตรเลียม รวมปริมาณ 5.38 ล้านลิตร/เดือน และล่าสุดปริมาณจำหน่าย B20 ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2561 พบว่า มีปริมาณรวม 1.31 ล้านลิตร โดยใช้เงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4.14 ล้านบาท

นอกจากนั้น ที่ประชุมฯ ยังรับทราบผลสรุปความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบสายจำหน่าย รองรับความต้องการฟ้าสูงสุดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งปกติความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดส่วนใหญ่อยู่ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน โดยสรุปพีคไฟฟ้าของปี 2561 แบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของประเทศจากระบบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมกับข้อมูลการประเมินจากพีคไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง/ขายตรง (ผู้ผลิตเอกชน และ SPP ขายตรง) ซึ่งพีคเกิดขึ้นเมื่อ วันอังคารที่ 24 เมษายน 2561 เวลา 13.51 น. อยู่ที่ระดับ 34,317 เมกะวัตต์ มีค่าสูงกว่าพีคของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้น 0.6% และ ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า (กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) เกิดขึ้นเมื่อ วันอังคารที่24 เมษายน 2561 เวลา 13.51 น. อยู่ที่ระดับ 29,968 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าพีคปีก่อน โดยลดลง 1.1% แสดงให้เห็นว่า พีคในระบบของ 3 การไฟฟ้าลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพราะมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น

Advertisment