รัฐมนตรีพลังงานร่วมแถลงโครงการ“โซลาร์ภาคประชาชน”เปิดให้ยื่นผ่านช่องทางเว็บไซต์ กฟน. https://spv.mea.or.th และ เว็บไซต์ของ กฟภ. ที่ https://ppim.pea.co.th เริ่มตั้งแต่ 8.00 น.ของวันที่24 พ.ค.นี้เป็นต้นไปจนถึงสิ้นปี2562 ระบุใครยื่นก่อนได้สิทธิ์ก่อน จนครบเป้าหมายปีนี้ 100 เมกะวัตต์ หรือครอบคลุมประมาณ 10,000-20,000 ครัวเรือน ชี้ครัวเรือนที่ผลิตใช้เองคืนทุนเร็วกว่าที่ผลิตเพื่อขายเพียงอย่างเดียว
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งเดินทางมาร่วมแถลงข่าวโครงการ“โซลาร์ภาคประชาชน”ร่วมกับประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ผู้แทน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2562 เปิดเผยว่า ในการรับสมัครประชาชนผู้สนใจที่จะเข้าร่วม โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน”ที่จะเริ่มเปิดให้ยื่นช่องทางเว็บไซต์ของ กฟน. ที่ https://spv.mea.or.th และ กฟภ.ที่ https://ppim.pea.co.th เริ่มตั้งแต่ 8.00 น.ของวันที่24 พ.ค.นี้เป็นต้นไปจนถึงสิ้นปี2562 หากได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก ก็จะมีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจในเชิงนโยบาย ที่อาจจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณที่มากขึ้นในอนาคต จากแผนเดิม ที่จะเปิดรับซื้อ ปีละ100เมกะวัตต์ ต่อเนื่อง10ปี รวม1,000เมกะวัตต์
ทั้งนี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิในการยื่นสมัครเข้า โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 และได้เผยแพร่สู่สาธารณชนแล้ว โดยมุ่งเน้นสนับสนุนให้ประชาชนผู้ใช้พลังงาน ประเภทครัวเรือนขนาดเล็ก(ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่1) ได้ติดตั้งอุปกรณ์แผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท๊อป) เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง และนำส่วนเกินที่เหลือจากการใช้ ไปขายต่อให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) โดยมีกำลังผลิตติดตั้งครัวเรือนละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) กำหนดอัตราราคารับซื้อไฟฟ้า ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้ารวม 10 ปี ซึ่งโครงการในปี2562 จะกระจายครอบคลุมประมาณ 10,000-20,000 ครัวเรือน
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ประชาชนผู้ที่สนใจควรศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่จะได้รับ และความคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้น เช่น ต้องมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันที่มาก จึงจะคืนทุนได้เร็ว เพราะจะช่วยประหยัดค่าไฟที่ต้องจ่ายไปประมาณ 3.80 บาทต่อหน่วย แต่หากตั้งใจจะติดตั้งเพื่อขายไฟเข้าระบบเพียงอย่างเดียว จะต้องใช้เวลาคืนทุนที่นาน เพราะราคารับซื้อกำหนดเอาไว้ต่ำ ไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย เท่านั้น
นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า สำหรับการเปิดรับสมัคร จะเป็นการยื่นผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น โดยจะเปิดรับยื่นความจำนงค์ได้ตั้งแต่8โมงเช้าวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป และหมดเขตรับลงทะเบียนภายในปี 2562 โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จะทยอยประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณา ทางเว็บไซต์ของการไฟฟ้า รวมทั้งส่งผลการคัดเลือกให้ผู้สมัครได้รับทราบทางอีเมลที่ได้แจ้งไว้ ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป
ทั้งนี้โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน”ในปี2562 ได้กำหนดเป้าหมายปริมาณรับซื้อรวม 100 เมกะวัตต์ แบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 30 เมกะวัตต์ ครอบคลุม3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 70 เมกะวัตต์ ครอบคลุม74 จังหวัด ที่เหลือ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center –ENC ) รายงานว่าข้อมูลที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สรุปและนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้ให้เห็นตัวอย่างกรณี ครัวเรือนที่ติดตั้งชุดอุปกรณ์โซลาร์รูฟท็อป ขนาด 8 กิโลวัตต์ จะใช้เงินลงทุนแผงเซลล์และระบบ ประมาณ 240,000 บาท( กิโลวัตต์ละ30,000 บาท) และมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนดิจิทัลมิเตอร์ 8,500 บาท ผลิตไฟฟ้าได้ 11,912 หน่วยต่อปี โดยหากเป็นการผลิตเพื่อขายเข้าระบบอย่างเดียว ไม่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวัน จะมีรายได้จากการขายไฟ ประมาณ 20,012 บาทต่อปี จะใช้เวลาถึง12 ปี จึงจะคืนทุน แต่หากบ้านดังกล่าวมีการใช้ไฟฟ้าเองทั้ง100%ในช่วงกลางวัน จะใช้เวลาคืนทุนเร็วขึ้นประมาณ 6ปี แต่หากผลิตใช้เอง50%และขายส่วนเกินเข้าระบบ 50% จะใช้เวลาคืนทุนประมาณ 7.5ปี