โจทย์ลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย รัฐบาลสั่งง่ายแต่หน่วยงานปฏิบัติยาก

236
- Advertisment-

ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพงที่หมักหมมมานาน ยาวนานพอๆกับอายุของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในทุกๆ รัฐบาลที่ผ่านๆมา จึงเป็นเรื่องยากที่จะให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะจัดการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมไว้ให้ลุล่วงได้ภายใน 1 เดือนครึ่งหรือแค่ 45 วัน

ต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งหลายที่แฝงอยู่ในค่าไฟฟ้าทั้งหมดนั้น เป็นการรับรู้และดำเนินการตามมติของ กพช. แทบทั้งสิ้น ผ่านการผูกพันกันด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างตัวแทนของรัฐคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.กับเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งรายใหญ่และรายเล็ก และที่สำคัญคือต้นทุนส่วนใหญ่ของค่าไฟฟ้า มาจากเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิต ที่กว่าร้อยละ 60 คือก๊าซธรรมชาติ

ดังนั้นเมื่อปี 2565 ที่ทุกประเทศ รวมทั้งไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นมาก ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายสั่งตรึงราคาค่าไฟฟ้าไม่ให้ปรับขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ผลก็คือ ทั้ง กฟผ.และ ปตท. ต้องมาช่วยรับภาระส่วนต่างของต้นทุนเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นเอาไว้ก่อน โดยภาระดังกล่าวที่ กฟผ. แบกไว้ให้ก่อน เคยขยับขึ้นไปสูงสุดกว่า 1.3 แสนล้านบาท ก่อนที่จะมีการปรับค่าไฟฟ้าทยอยจ่ายคืนให้จนเหลือภาระอยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ในปัจจุบันโดยที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยยังอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย

- Advertisment -

วันนี้ก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ กฟผ. และ กกพ.ต้องมาร่วมกันสางปัญหาอีกคำรบหนึ่ง โดยผลจากมติ ครม. 1 เมษายน 2568 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นำเสนอ ที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. และ กฟผ. ไปหาแนวทางในการปรับลดค่าไฟฟ้าลงให้เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยฝ่ายนโยบายอ้างว่าทาง กกพ. มีเงินรายได้ที่จัดเก็บจากค่าไฟฟ้าสูงกว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง คือ 3.95 บาทต่อหน่วย แต่ได้ค่าไฟฟ้าที่เก็บเฉลี่ยอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ในการพิจารณาค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าเอฟที ซึ่งคิดคำนวณและจัดเก็บในรอบบิลค่าไฟฟ้าทุกๆ 4 เดือนนั้น เป็นการประมาณการตัวเลขที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า ประมาณ 8 เดือน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา หากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เป็นผู้กำหนดค่าไฟฟ้า ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน 2550 มีการประเมินตัวเลขค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บสูงกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งทำให้ กฟผ. มีรายได้เพิ่มขึ้น ในการคำนวณค่าเอฟทีรอบต่อไป กกพ. ก็จะนำส่วนต่างที่เกิดขึ้นมาปรับลดค่าเอฟทีลง ที่เรียกเงินส่วนนี้ซึ่งเกิดขึ้นทางบัญชี ว่าเป็นการบริหารค่าเอฟที

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาที่ต้นทุนราคาเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ เพราะนโยบายของรัฐบาลที่พยายามจะตรึงค่าไฟฟ้าเอาไว้ให้ต่ำกว่าต้นทุนจริงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการทำนโยบายประชานิยมช่วยค่าครองชีพให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ช่วงโควิด 19 ทำให้ตัวเลขส่วนเกินที่เกิดขึ้นทางบัญชีที่ กกพ. เคยใช้บริการค่าเอฟทีไม่มีเหลืออยู่แล้ว จึงทำให้เกิดผลตรงกันข้ามคือ กฟผ. จัดเก็บรายได้จากค่าไฟฟ้าต่ำกว่าต้นทุนเชื้อเพลิงจริงที่เพิ่มขึ้น จึงต้องเป็นหน่วยงานที่แบกรับภาระต้นทุนแทนประชาชนไปก่อนมาตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น โจทย์สั่งลดค่าไฟฟ้า จาก 4.15 บาทให้เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 และต้องการให้มีผลในทางปฏิบัติในรอบบิลเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 เพราะรัฐบาลต้องการได้คะแนนนิยมจากประชาชน ในขณะที่อีกด้านหนึ่งหน่วยงานที่น่าเห็นใจเป็นที่สุดคือสำนักงาน กกพ. ที่ ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน ได้เพียง 9 เดือน ก็ต้องมาตามแก้ปัญหาหมักหมมเรื่องค่าไฟฟ้าจากผลพวงของนโยบาย กพช. ทั้งเรื่องต้นทุนจากค่าความพร้อมจ่าย หรือ Available Payment -AP ที่เกิดจากความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ได้เติบโตขึ้นตามแผน หรือการทบทวนนโยบายการส่งเสริม ในรูปAdder หรือ ในรูป Feed in Tariff -FiT ที่ รัฐมนตรียุคนี้ มองว่าเอื้อต่อเอกชนมากเกินไปและกลายเป็นต้นทุนในส่วน policy expense ทั้งหมดล้วนต้องการระยะเวลาพอสมควร ไม่ใช่จะเอาด่วนๆ ในเดือนเดียว และเรื่องทั้งหมดต้องนำเสนอกลับไปสู่ กพช. ทั้งนี้ในการแก้ไขทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ยังต้องมีความรอบคอบไม่ให้รัฐต้องถูกฟ้องร้องเสียค่าโง่ หรือ กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย

ดังนั้นทางออกที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงตามนโยบายได้รวดเร็วดั่งใจคือ คณะรัฐมนตรีต้องมีมติให้ชัดและสั่งลงมาเลยว่าใครจะเป็นผู้รับภาระต้นทุนส่วนต่างที่เกิดขึ้น และสั่งการไปให้ชัดเจนด้วยว่าให้ทบทวนแก้ไขสัญญารับซื้อไฟฟ้า ไม่ใช่แค่ศึกษาวิเคราะห์ แต่ต้องการผลทางปฏิบัติมากกว่ามติ ครม.ที่เป็นเพียงการรับทราบ เพื่อหาคะแนนนิยมทางการเมืองไปวันวัน

ที่สำคัญต้องอย่าลืมด้วยว่า ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน 2550 กกพ. มีบทบาทที่ดำเนินการเพื่อรักษาสมดุลในภาคพลังงานให้ได้ทั้ง 3 ส่วน ส่วนแรกคือ ความมั่นคงไฟฟ้าและคุณภาพของไฟฟ้า ส่วนที่สอง คือการกำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม เป็นธรรมต่อทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ และส่วนที่สามคือการกำกับดูแลให้เกิดการจัดหาไฟฟ้าที่สะอาดเพื่อสิ่งแวดล้อม ขจัดอุปสรรคทางด้านการค้า การลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

Advertisment