โฆษก กกพ.เคลียร์ประเด็น กรณีผู้รับสัญญาแหล่งก๊าซเอราวัณ ผลิตก๊าซได้ต่ำกว่าเงื่อนไขข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐ หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน วันที่ 23 เม.ย.2565 ปตท.จะได้สิทธิ์เป็นผู้นำเข้าLNG ทดแทนปริมาณก๊าซส่วนที่หายไปเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนก๊าซจนกระทบความมั่นคงพลังงานของประเทศ
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยถึงกรณีการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่23 เม.ย. 2565 ที่มีแนวโน้มสูงว่าผู้รับสัญญารายใหม่จะไม่สามารถดำเนินการผลิตก๊าซตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐได้ ในปริมาณที่ไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันต่อเนื่องเป็นระยะเวลา10 ปี ว่า ปริมาณก๊าซที่ขาดหายไปในส่วนดังกล่าว ทาง ปตท. จะเป็นผู้มีสิทธิ์นำเข้าLNG มาทดแทน เนื่องจากเมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์จะเห็นว่า แหล่งเอราวัณ ถือเป็นแหล่งก๊าซฯเดิมที่ประสบปัญหาการผลิตก๊าซฯ ดังนั้น ปตท.ในฐานะ Shipper รายเดิมที่รับผิดชอบดูแลอยู่ จะต้องทำหน้าที่จัดหาก๊าซฯมาให้เพียงพอสำหรับความต้องการใช้
ส่วนบทบาทของ Shipper รายใหม่ จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาก๊าซฯ ในส่วนของดีมานด์ใหม่ เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าใหม่หรือโรงไฟฟ้าที่ไม่ติดสัญญาก๊าซฯเดิมกับ ปตท. ตามแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่ผ่านความเห็นชอบจากทั้ง กบง.และ กพช.มาแล้ว
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ก่อนหน้านี้ ทางสำนักงาน กกพ. ได้เร่งให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รีบสรุปปริมาณก๊าซจากแหล่งเอราวัณ ว่าผู้รับสัญญารายใหม่ คือ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ จะผลิตก๊าซได้ตามสัญญาหรือไม่ หรือจะมีปริมาณก๊าซที่ขาดหายไปจำนวนเท่าไหร่ เพื่อที่ ทาง กกพ.จะได้เตรียมการให้ ปตท.วางแผนจัดการนำเข้า LNG มาไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ ในมติ กบง.เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2564 ที่เห็นชอบปริมาณการนำเข้า LNG ปี 2564 – 2566 เพื่อรองรับแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ปริมาณรวม 5.24 ล้านตัน แบ่งเป็นปี 2564 ปริมาณ 0.48 ล้านตัน ปี 2565 ปริมาณ 1.74 ล้านตัน และ ปี 2566 ปริมาณ 3.02 ล้านตัน นั้น ยังไม่ได้คิดรวมกรณีการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณที่จะไม่เป็นไปตามสัญญา
ทั้งนี้หากเป็นไปตามกระแสข่าวที่ระบุว่า หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน การผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณจะต่ำกว่าสัญญาประมาณ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น มีการประเมินกันว่าอาจจะต้องมีการนำเข้าLNG มาทดแทนประมาณ 1.5 -2 ล้านตันต่อปี