จังหวัดนครราชสีมา เตรียมพร้อมเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตขยะมูลฝอยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากร และขาดการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ส่งผลให้มีปริมาณขยะเหลือรอการกำจัดอย่างถูกต้องมากกว่า 300 ตันต่อวัน ด้าน กกพ. หนุนเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคอีสานร่วมตระหนักรู้แนวทางการจัดการปัญหาขยะด้วยการนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า
จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศ และมีประชากรเป็นจำนวนมาก ทำให้มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 2,000 ตัน และมีขยะส่วนหนึ่งถูกจัดการอย่างไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ที่ “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครราชสีมา” ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีการดำเนินการจัดการขยะอย่างถูกต้องครบวงจร โดยคัดแยกขยะและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารจัดการขยะ ทำให้นอกจากจะกำจัดขยะด้วยการฝังกลบแล้ว ยังได้ผลผลิตจากกระบวนการ คือ ปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพ โดยยังนำก๊าซฯ ที่ได้ไปเป็นเชื้อเพลิงปั่นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า กำลังการผลิต 800 กิโลวัตต์ นอกจากนั้น ขยะบางส่วนยังมีเอกชนมารับซื้อเพื่อไปทำเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ใช้ในโรงงานผลิตปูนซิเมนต์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะมูลฝอยจากชุมชนที่เข้าสู่กระบวนการกำจัดโดย “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครราชสีมา” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราว 440 ตัน ในปี 2561 – 2562 เพิ่มขึ้นเป็นกว่าวันละ 450 ตัน ในปี 2563 ซึ่งสูงเกินระบบการจัดการของศูนย์ฯ ทำให้มีขยะชุมชนที่ยังไม่ได้จัดการจำนวนมาก จึงมีแผนที่จะจัดการขยะเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยการนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมา การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะมักมีปัญหา จึงยังมีความจำเป็นต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจในเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากขยะกับคนในท้องถิ่นและชุมชนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
นายบุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา จึงได้เปิดบ้านต้อนรับคณะสื่อมวลชนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น และสระบุรี เข้าเยี่ยมชมกระบวนการจัดการขยะของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครราชสีมา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา พร้อมให้ข้อมูลการกำจัดขยะของศูนย์ฯ ดังกล่าว ซึ่งรับขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ใกล้เคียง 29 แห่ง เข้ามากำจัดในแต่ละวันมากกว่า 450 ตัน แต่ที่ผ่านมาระบบสามารถกำจัดขยะได้ไม่เกิน 230 ตันต่อวันเท่านั้น ยิ่งในปัจจุบันประสบปัญหาการทำงานของเครื่องมือในการคัดแยกและกำจัดขยะหลังดำเนินการมากว่า 10 ปี ทำให้ความสามารถในการกำจัดลดลงเหลือเพียงประมาณ 100 ต่อวัน ปัจจุบันพื้นที่กว่า 73 ไร่ ของศูนย์กำจัดขยะของเทศบาลฯ จึงเต็มไปด้วยกองภูเขาขยะที่รอการกำจัด
ดังนั้น เพื่อแก้วิกฤตขยะดังกล่าว เทศบาลนครนครราชสีมาจึงได้ขออนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ระยะที่ 2 ขนาดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ โดยจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน 100% และต้องรับขยะจากเทศบาลไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถรองรับขยะจากท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 700 ตันต่อวัน ทำให้ต้นทุนในการจัดการขยะลดลงจากปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองที่ยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังสร้างความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วย ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าจากขยะที่จะตั้งขึ้นจะมีระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐานโรงไฟฟ้าและการรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด
ด้าน ผศ.ดร.พรรษา ลิบลับ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา ในฐานะที่ มทส. เป็นที่ปรึกษาโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยฯ ของเทศบาลนครนครราชสีมา กล่าวว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะแห่งใหม่กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์นี้ จะสามารถแก้ปัญหาขยะตกค้างของเทศบาลฯ ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างได้รับอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่จัดทำแผนมานานหลายปี จึงต้องทำการทบทวนหรือปรับปรุงแผน (Revised) ใหม่อีกครั้ง ก่อนจะดำเนินการจัดจ้างภาคเอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้าง โดยคาดว่าในปี 2564 จะเริ่มการก่อสร้างและจะแล้วเสร็จในอีกประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสามารถรองรับปริมาณขยะได้เกือบ 1,000 ตันต่อวัน
สำหรับการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครราชสีมา” ของกลุ่มสื่อมวลชนในพื้นที่ภาคอีสานครั้งนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้ “โครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste Side Story)” ครั้งที่ 3 ดำเนินการโดยศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97 (5) ปีงบประมาณ 2562 ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ครั้งนี้ มีสื่อมวลชนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครอบคลุมทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์/เคเบิลทีวี และสื่อออนไลน์ รวมทั้งสมาคมผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดและสื่อภาคพลเมือง ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น นครราชสีมา และสระบุรี จำนวนทั้งสิ้น 60 คน ที่มาเข้าร่วมการจัดกิจกรรม ระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2563 ณ โรงแรมรายาแกรนด์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
นางชฎารัตน์ สุนทรเกตุ ผู้อำนวยการฝ่าย สำนักงาน กกพ. ประจำเขต 6 (นครราชสีมา) ประธานเปิดงาน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงานของสำนักงาน กกพ. คือ พยายามส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารหรือส่งต่อข้อมูลและแนวคิดในเรื่องการบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้อง จึงคาดหวังว่าโครงการ Waste Side Story ครั้งที่ 3 จะมีส่วนช่วยให้สื่อมวลชนท้องถิ่นเกิดความรู้ความเข้าใจต่อการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากขยะอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ในพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ ผ่านการมีส่วนร่วมในการผลิตและสร้างสรรค์เนื้อหาที่น่าสนใจ เพื่อขยายผลเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากขยะต่อไป
ขณะที่ นายทวีสุข นามวงษา ผู้ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ประจำเขต 6 (นครราชสีมา) ขยายความเข้าใจในเรื่อง “พลังงานไฟฟ้าจากขยะและชุมชน” โดยเน้นย้ำในเรื่องของการคัดแยกขยะ ที่จะทำให้ได้ขยะหลากหลายประเภทที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้ รวมทั้งนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากกระแสไฟฟ้าที่ได้จากขยะในท้องถิ่นของตนเอง และเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ พร้อมชี้ว่า ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีปัญหาปริมาณขยะล้นเมืองเกินการจัดการ จนทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ทั้งเรื่องกลิ่น น้ำเสีย และเชื้อโรคต่าง ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีลดปริมาณขยะลง อย่างไรก็ตาม วิธีเผาทำลายก็มีมลพิษสูง ส่วนวิธีการฝังกลบนั้นพื้นที่ไม่เพียงพอกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นทุกวัน และมักเกิดแรงต้านจากประชาชนในพื้นที่ที่รัฐจะทำหลุมฝังกลบเพิ่ม ทำให้ขยะที่ล้นจากระบบบริหารจัดการสะสมกองสูงเป็นภูเขารอการจัดการ ดังนั้น จึงเป็นการดีหากสามารถเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมีการควบคุมโรงไฟฟ้าทั้งด้านกลิ่น ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสียก่อนออกจากโรงไฟฟ้า
นายทวีสุข ยังให้ข้อมูลด้วยว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะจากชุมชน โดยบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี2018 ฉบับล่าสุด ซึ่งการขออนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะจะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อได้รับอนุญาตใช้พื้นที่จากท้องถิ่นแล้ว จึงจะสามารถก่อสร้างได้ตามมาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหลังได้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าแล้ว ผู้ประกอบการหรือโรงไฟฟ้าจะต้องส่งรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าและปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ทางเสียง และน้ำ ในทุก 6 เดือน โดยมีสำนักงาน กกพ. เป็นผู้ตรวจสอบและกำกับดูแลโรงไฟฟ้าให้ดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ มองว่าหากประเทศไทยเดินหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะได้ จะทำให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้ามีรายได้เสริมจากการขายไฟให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และก็ยังลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะที่ปัจจุบันมีราคาสูงลงได้อีกด้วย
Waste Side Story Camp #3
การประชุมเชิงปฏิบัติการ “Waste Side Story” ครั้งที่ 3 นี้ มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และวิทยากรด้านการมีส่วนร่วม มาร่วมแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้กับสื่อมวลชนผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมแนะนำเทคนิคการรายงานข่าวแบบเรื่องเล่า (Story Telling) สำหรับสื่อมวลชนท้องถิ่น ที่จะต้องพัฒนาทั้งกลยุทธ์และวิธีการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ โดนใจ และเป็นข้อมูลที่ถูกต้องทันสมัย เพื่อสื่อสารและนำเสนอเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ สามารถส่งต่อความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการขยะและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าสู่ชุมชนได้อย่างถูกต้อง
“ธวัลรัตน์ แดงเจริญ” ตัวแทนสื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า การได้เข้าร่วมโครงการ Waste Side Story ในครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าการผลิตสื่อสร้างสรรค์ไม่ได้ยากอย่างที่คิดหลังจากที่ได้รับการถ่ายทอดเทคนิคต่าง ๆ แล้ว รวมทั้งยังได้รับองค์ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการนำขยะมูลฝอยมาผลิตไฟฟ้า จากที่เคยเพียงแค่ได้ยินจากชาวบ้าน หรือเห็นจากข่าวตามสื่อต่าง ๆ แต่ไม่เคยได้รู้ว่ากระบวนการนำขยะที่ไม่ใช้งานแล้วมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้านั้นมีขั้นตอนการผลิตอย่างไร ซึ่งการได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ได้รู้ว่าขยะมีประโยชน์ มีคุณค่า และยังสร้างเครือข่ายของสื่อมวลชนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น
เช่นเดียวกับ “สถาพร ระวิสิทธิ์” ตัวแทนสื่อมวลชนท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น ต้องการให้กิจกรรรมดังกล่าวจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพราะเป็นโครงการที่จะช่วยให้สื่อมวลชนท้องถิ่นและพี่น้องประชาชนได้เห็นคุณค่าของขยะ ที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้ครอบครัวและชุมชนได้ จึงอยากเชิญชวนให้พี่น้องหันมาคัดแยกขยะ เพราะ “ขยะ” นอกจากจะนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักและผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนแล้ว ก็ยังได้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมขอบคุณคณะวิทยากรและผู้จัดทำโครงการฯ ที่ทำให้สื่อมวลชนท้องถิ่นหลายแขนงได้รับองค์ความรู้ สามารถต่อยอดและกระจายข่าวสารให้พี่น้องประชาชนต่อไปได้
#wastesidestory #wastetoenergy #wastesidestorycamp3 #พลังงานไฟฟ้าจากขยะ