“แม่เมาะ” ขับเคลื่อนสู่ต้นแบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศ ด้วยนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

1953
- Advertisment-

อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นที่ตั้งของเหมืองถ่านหินลิกไนต์สำหรับผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าในภาคเหนือของไทยอย่างยิ่ง เพราะมีโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผลิตไฟฟ้าป้อนในพื้นที่ ช่วยรักษาสมดุลทั้งในแง่ความหลากหลายของเชื้อเพลิงและต้นทุนค่าไฟฟ้า

แต่ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ ปัจจุบัน แม่เมาะเป็นพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับและมีเสียงชื่นชมล้นหลามทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากความพยายามของ กฟผ. ที่ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับชุมชน เรียนรู้บทเรียนในอดีตแล้วนำมาแก้ไขปัญหา พลิกฟื้นพื้นที่ทำเหมืองถ่านหินให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีป่าล้อมรอบเกือบ 12,000 ไร่ และมีทุ่งดอกบัวตองเหลืองอร่ามขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดลำปาง ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้คนในท้องถิ่น 

ปัจจุบัน แม่เมาะ กำลังเดินหน้าสู่การเป็น “แม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City)” ที่จะเป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศด้วยนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่โรงไฟฟ้า กฟผ. แม่เมาะ ให้การสนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชนและส่งเสริมอาชีพให้กับวิสาหกิจชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยมีกุญแจสำคัญ คือ การผสานความร่วมมือระหว่างพลังชุมชนที่เข้มแข็งกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่แม่เมาะ ซึ่งพลังแห่งการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย นำมาสู่การพัฒนาพลิกโฉมแม่เมาะจนกลายเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี

- Advertisment -

ล่าสุด ความสำเร็จของการดำเนินการเหมืองถ่านหินแม่เมาะอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ กฟผ. ในฐานะตัวแทนประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ของกิจการถ่านหินในอาเซียน หรือ ASEAN Coal Awards 2021 มาได้ถึง 5 รางวัล จากการประกวด ASEAN Energy Awards 2021 ที่ผ่านมา ได้แก่รางวัลชนะเลิศประเภทความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) 1 รางวัล รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทการทำเหมืองถ่านหินแบบเปิด (Surface Coal Mining) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 (ได้รับ 2 รางวัล) ประเภทนวัตกรรมถ่านหิน (Special Submission)  และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (CCT Utilization for Power Generation Category (Large)  

Green CSR จับมือเดินหน้าสู่เมืองน่าอยู่

สำหรับรางวัล ASEAN Coal Awards 2021 ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) นั้น กฟผ. คว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ในปีนี้ จากผลงาน “Green CSR” ของ กฟผ. แม่เมาะ ซึ่งปีนี้ไม่ใช่ปีแรกที่ กฟผ. ได้รับรางวัลประเภทดังกล่าว แต่ได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทนี้มาถึง 4 ปีซ้อน อันเป็นผลมาจากความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นมาโดยตลอดของ กฟผ.แม่เมาะ และชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ โดยยึดหลักประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้ง มีการส่งเสริมอาชีพให้กับวิสาหกิจชุมชนด้วยการนำวัตถุพลอยได้จากการทำเหมืองและผลิตไฟฟ้ามาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ สารปรับปรุงดินจากฮิวมัสล้านปีซึ่งมีแร่ธาตุสูงอยู่ในดินก่อนถึงชั้นถ่านหิน หรือ บล็อกประสานจากเถ้าหนักโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองและพัฒนาไปสู่วิสาหกิจเพื่อสังคมในอนาคต รวมถึงการนำความรู้ด้านนวัตกรรมมาสนับสนุนชุมชน เช่น โครงการพัฒนาแอปพลิเคชัน “Lampang Hotspot” เพื่อให้ชุมชนทราบสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในจังหวัดลำปาง และร่วมกันหาแนวทางรับมือในระยะยาวอย่างยั่งยืน

นวัตกรรมเพื่อการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น กฟผ. ยังได้รับรางวัล ASEAN Coal Awards 2021 ประเภทนวัตกรรมถ่านหินมาถึง 2 รางวัล คือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากผลงานแบบจำลองยีออยด์ MAEMOH2019 ของ กฟผ. เหมืองแม่เมาะ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากผลงานการปรับปรุงกระบวนการลำเลียงวัตถุพลอยได้ด้วยสายพานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ

สำหรับแบบจำลองยีออยด์ท้องถิ่นเหมืองแม่เมาะ (Geoid Model MAEMOH2019) คือ การปรับปรุงความถูกต้องของค่าพิกัดทางดิ่งจากการรังวัดดาวเทียม เพื่อนำไปใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีสำรวจที่ทันสมัยในการดำเนินงานของเหมืองแทนวิธีดั้งเดิม ทั้งการหาปริมาตรการขุด ขนดินและถ่านหินได้อย่างถูกต้องแม่นยำ การตรวจสอบความเคลื่อนตัวของผนังบ่อเหมืองและพื้นที่ทิ้งดิน การกำหนดตำแหน่งในการติดตั้งเครื่องจักร เครื่องโม่และสายพาน การสำรวจทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศด้วยอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งแบบจำลองยีออยด์ MAEMOH2019 สามารถใช้งานได้ครอบคลุมทั้งเหมืองแม่เมาะและพื้นที่โดยรอบในรัศมีประมาณ 10 กิโลเมตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนผลงานการปรับปรุงกระบวนการลำเลียงวัตถุพลอยได้ด้วยสายพานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยการปรับปรุงการเลื่อนของสายพาน ปรับจุดศูนย์ถ่วงของสายพานลำเลียงถ่านหิน ติดตั้งลูกกลิ้งประคองสายพาน (Guide Roller) และควบคุมปริมาณในการขนถ่าย ทำให้ไม่ต้องปรับปรุงโครงสร้างสายพานทั้งระบบ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 1,100 เท่าแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองและการร่วงหล่นตามแนวสายพานอีกด้วย

เทคโนโลยีสะอาดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ดี 

กฟผ. ยังคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวด ASEAN Coal Awards 2021 ประเภทการทำเหมืองถ่านหินแบบเปิด หรือ Surface Coal Mining จากผลงานการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน (Transformation to Sustainability) ของ กฟผ. เหมืองแม่เมาะ ซึ่งให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การดำเนินงานขุดดิน ขนถ่านหิน ที่ล้วนมีมาตรการควบคุมผลกระทบอย่างเคร่งครัด ทั้งฝุ่น กลิ่น เสียง การสั่นสะเทือน และคุณภาพน้ำ รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดย กฟผ. แม่เมาะเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ ทำให้เมื่อพบปัญหาชุมชนสามารถเสนอแนะให้แก้ไขได้ทันที และที่ผ่านมาชุมชนก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและปัญหาก็ได้รับการแก้ไขลุล่วงด้วยดี

นอกจากนั้น กฟผ. ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ CCT Utilization for Power Generation Category (Large) จากผลงานนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่สะท้อนการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเลือกใช้เทคโนโลยีสะอาดประสิทธิภาพสูงเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ เทคโนโลยีอัลตร้าซูเปอร์คริติคอล (Ultra Supercritical) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและควบคุมมลสารได้ดีขึ้น การติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) และเครื่องกำจัดฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิต (ESP) รวมถึงเครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ส่งผลให้คุณภาพอากาศรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะอยู่ในเกณฑ์ดีกว่ามาตรฐานที่กฎหมายไทยกำหนดและยังดีกว่าค่าแนะนำที่องค์การอนามัยโลกกำหนดอีกด้วย 

รางวัล ASEAN Coal Awards 2021 ทั้ง 5 รางวัล น่าจะสะท้อนให้เห็นการพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการถ่านหินและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องของ กฟผ. และความพยายามดำเนินการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างใกล้ชิด และขับเคลื่อนการพัฒนาสู่เป้าหมาย “แม่เมาะเมืองน่าอยู่” เพื่อเป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศ ต่อไป

Advertisment