แผนPDPฉบับใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)เมื่อวันที่24ม.ค.2562 มีการปรับเปลี่ยนให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์เซลล์ในรูปแบบอื่นๆด้วยในช่วงครึ่งหลังแผน นอกเหนือจากโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน แต่ยังกำหนดกรอบรับซื้อไว้ 10,000เมกะวัตต์ ตลอดทั้งแผน
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018)ที่ผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2562 มีความแตกต่างจากฉบับร่าง ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาภาคประชาชน หรือโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน ที่เคยกำหนดปริมาณรับซื้อไว้ 10,000เมกะวัตต์ โดยมีการเปิดช่องให้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์เซลล์ ในรูปแบบอื่นๆ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารโรงงาน ด้วย ในช่วง10ปีหลัง เนื่องจาก ในการรับฟังความเห็น ภาคอุตสาหกรรมเห็นว่า ในอนาคต ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ พร้อมระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) มีแนวโน้มต้นทุนที่ลดลงเรื่อยๆ จึงไม่ควรจะจำกัดการรับซื้อเฉพาะโซลาร์รูฟท็อบในภาคครัวเรือน เท่านั้น
อย่างไรก็ตามกรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ยังอยู่ที่10,000เมกะวัตต์ เท่ากับแผนPDPฉบับร่าง
ทั้งนี้ ในช่วง10ปีแรก ทางกพช.ได้มอบหมายให้
คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน( กบง. )และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) พิจารณาแนวทางการดำเนินการโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน ปีละ100 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
ส่วนปีหลังจากนั้น จะเป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์รูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติม