แผนพัฒนาไฟฟ้าภาคใต้ส่อเค้าวุ่น เอกชนขอแบ่งสร้างแทนกฟผ.กว่า2,600เมกะวัตต์

9524
- Advertisment-

เอกชนขอแบ่งสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงภาคใต้แทนกฟผ. รวม 2,630เมกะวัตต์ โดยเป็นในส่วนพื้นที่จะนะ 1,700เมกะวัตต์ และสุราษฎร์ธานี 930เมกะวัตต์  หลัง ครม.เมื่อวันที่ 21ม.ค.2563 ที่ผ่านมาเห็นชอบแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเสนอโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  และระบุให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับแผนงาน ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ กระทรวงพลังงาน ยังงง เพราะไม่สอดคล้องกับแผน PDP2018 ที่ครม.เคยอนุมัติไปก่อนหน้านี้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า มติคณะรัฐมนตรี ซึ่งประชุมนอกสถานที่ที่ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21ม.ค.2563 ที่เห็นชอบในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเสนอโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับแผนงานดังกล่าว ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นไปตามผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2562 ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานนั้น  ทำให้ เกิดความสับสน ไม่ชัดเจนในทางปฎิบัติ  โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงพลังงาน  เนื่องจากมีการระบุให้ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้ามั่นคงภาคใต้ ที่ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า 930 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,700 เมกะวัตต์  ที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

ทั้งนี้การเห็นชอบในหลักการให้สร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวนั้นไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ (Power Development Plan –PDP2018) ที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้า เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2562

- Advertisment -

โดยในPDP2018  กำหนดให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มอีก 4,762 เมกะวัตต์ ที่กำลังผลิตในปี 2580 เท่ากับ 8,638 เมกะวัตต์ จากปี 2561 ที่มีกำลังการผลิตเท่ากับ 3,876 เมกะวัตต์ เพื่อให้ภาคใต้มีกำลังผลิตติดตั้งเพียงพอกับความต้องการใช้สูงสุด ในปี 2580 ที่จะเพิ่มเป็น  5,264 เมกะวัตต์ จากปี 2561 ที่ความต้องการใช้สูงสุดเท่ากับ 2,767 เมกะวัตต์ หรือโตขึ้นปีละ3.3%

ซึ่งโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามา ที่สำคัญประกอบด้วย  1.โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กำลังผลิตไฟฟ้าสุทธิ 1,400 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก มีวันกำหนดเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า (SCOD) ในปี 2570 และ ปี 2572 ตามลำดับ มีกฟผ.เป็นผู้ดำเนินการ และ2.โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าสุทธิ 1,700 เมกะวัตต์ ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก เพื่อทดแทนกำลังผลิตไฟฟ้าที่ปลดออกจากระบบ  กำหนดเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้า (SCOD) ในปี 2577 และ ปี 2578 ตามลำดับ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า  แผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ศอ.บต.นำเสนอให้ครม.เห็นชอบ เมื่อวันที่ 21ม.ค.2563 ที่ผ่านมา  ซึ่งมีส่วนของการสร้างโรงไฟฟ้าโดยเอกชนรายใหญ่ กำลังการผลิตรวม 2,630เมกะวัตต์ และการก่อสร้างท่าเรือ เพื่อ รับก๊าซLNG ที่ อ.จะนะ  รวมอยู่ด้วยนั้น  ทาง ศอ.บต.ไม่ได้มีการหารือเพื่อประสานแผนกับกระทรวงพลังงานมาก่อน โดยหากปล่อยให้มีการดำเนินการไปตามมติครม. ก็จะเกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน  ทำให้มีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงเกินความจำเป็น  และส่งผลกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชน

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องนโยบายที่รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจ โดยหาก ครม.ให้ยึดเอาตามแผนของ ศอ.บต.เป็นหลัก กระทรวงพลังงานก็จะต้องมีการปรับแผนPDP2018 ให้สอดคล้อง ซึ่งจะทำให้ โควต้าการลงทุนโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของกฟผ. ที่ภาคใต้ ถูกดำเนินการแทนโดยบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน

ด้านแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมไฟฟ้า  กล่าวว่า   โครงการสร้างโรงไฟฟ้าขนาด1,700 เมกะวัตต์ ที่ เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นั้นได้สิทธิประโยชน์พิเศษทางภาษีจากบีโอไอ แล้ว โดยอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือEIA   ทั้งนี้ฝ่ายผู้พัฒนาโครงการกำลังเจรจากับทาง ศอ.บต. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในพื้นที่  นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีสั่งการให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบสายส่ง  ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับผู้พัฒนาโครงการ   ทั้งนี้หลังจากที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือPPA แล้ว คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี   และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2566 ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น แปรรูปยางพารา  หัวรถจักรไฟฟ้า มีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และช่วยให้ภาคใต้ตอนล่างมีความมั่นคงด้านไฟฟ้า  หลังจากที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขนาด2,000 เมกะวัตต์  ของ กฟผ. ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามแผน  ในปี2564และ2568

Advertisment