แนะเร่งสำรวจแหล่งพลังงานในประเทศเพิ่ม แก้ปัญหาค่าไฟแพงในระยะยาว

933
ขอบคุณภาพจาก กฟผ.
- Advertisment-

โครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศ​ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ​หรือแผน PDP2018 (Rev1)​ ฉบับล่าสุด หรือที่กำลังจะจัดทำใหม่เป็น PDP2022 นั้น ยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนที่สูง

ในอดีตที่ผ่านมา เราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในอ่าวไทยเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้าถึง 70 % แต่เมื่อดูแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan 2018 ในช่วงปลายแผนปี 2580 นั้นสัดส่วนของก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย จะลดเหลือเพียง 28% และสัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG มาทดแทนนั้นจะสูงถึง 68% นั่นหมายความว่า หากราคา LNG ขยับขึ้นสูงเกิน 50 เหรียญ​สหรัฐ​ต่อล้านบีทียู ผู้ใช้ไฟฟ้าจะต้องเจอกับปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่ยังไม่นับรวมต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ( Energy Storage​ System​ )​ รวมทั้งจากพลังงานลม ชีวมวล และ ขยะ ที่มีการอุดหนุนค่าไฟฟ้าในรูป Feed in Tariff หรือ FiT อีกด้วย

เรือขนส่ง LNG – ขอบคุณภาพจาก ปตท.

ทางออกในการแก้ปัญหาเชื้อเพลิงราคาแพงในระยะยาว ก็คือการหาแหล่งพลังงานในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าพลังงานให้ได้มากที่สุด

- Advertisment -

แล้วประเทศไทย​ยังเหลือแหล่งพลังงานในประเทศอะไรอีกบ้างที่พอมีศักยภาพ? คำตอบของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คือ พื้นที่ซึ่งกำลังเปิดให้ยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย รอบที่ 24 จำนวน 3 แปลง ซึ่งกรมเชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะพบปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นอีก

ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง​ประเทศ​ไทย (กฟผ.)​ ให้ข้อมูลว่า ยังมีแหล่งถ่านหินลิกไนต์ที่แม่เมาะ ที่ยังไม่ได้เปิดเหมืองขุดถ่านขึ้นมาใช้อยู่อีกส่วนหนึ่งที่มีปริมาณสำรอง​มากพอสมควร แต่ต้องขึ้นกับนโยบายรัฐว่าจะให้ขุดขึ้นมาใช้หรือไม่

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ – ขอบคุณภาพจาก กฟผ.

ในขณะที่ คมกฤช ตันตระ​วาณิชย์​ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการกำกับดูแลค่าไฟฟ้า มองไปที่พื้นที่อ่าวไทยในส่วนที่ทับซ้อนกับกัมพูชา ว่าควรจะเร่งให้เกิดความชัดเจน ในการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจ​เฉพาะเพื่อให้เกิดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ เช่นเดียวกับพื้นที่เจดีเอไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ โดยจะเป็นทางออกที่สำคัญในระยะยาวของประเทศ​ในการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง

ที่ผ่านมากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเคยมีการประเมินศักยภาพตามโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ที่เรียกชื่อกันใหม่ว่า เป็นเขตเศรษฐกิจ​พิเศษ​เฉพาะทางทะเล นั้น มีศักยภาพสูงเหมือนเช่นที่เราเคยสำรวจพบแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นไทยจะมีแหล่งก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศ​ได้อีกหลายสิบปี

อย่างไรก็ตาม การที่จะได้ใช้ประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจ​เฉพาะทางทะเลไทย กัมพูชา นั้น หากเจรจาตกลงกันได้ในพิธีการและกระบวนการจัดทำข้อตกลงและกฏหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งการเริ่มต้นเข้าไปสำรวจและผลิตนั้น น่าจะใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่ก็มีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีที่นายกรัฐมนตรี​ของไทย พลเอกประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ มองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้แล้ว โดยมีการให้สัมภาษ​ณ์บอกสื่อมวลชนและอภิปรายชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎร​ถึงความพยายาม​ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการในเรื่องนี้ เพียงแต่ไม่ได้ลง​รายละเอียด​และเปิดเผยให้สาธารณชนได้ทราบ

ค่าไฟฟ้าในบิลเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้นกระทบภาระรายจ่ายของประชาชน และภาระที่ กฟผ. แบกรับไว้ก่อนแล้ว 8.7 หมื่นล้านบาทนั้นจะทำให้ค่าไฟฟ้าตลอดทั้งปี 2566 ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับแผนระยะยาวที่ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้า LNG ในสัดส่วนที่สูง ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าควรจะต้องช่วยผลักดันให้รัฐมีนโยบายที่ชัดเจนในการสำรวจหาแหล่งพลังงานในประเทศ​เพิ่มเติม เพื่อหวังที่จะมีเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้าทดแทนเชื้อเพลิง​นำเข้าราคาแพงได้ตามศักยภาพที่ประเทศไทยมีอยู่

Advertisment