เอกชน แห่ร่วมแสดงความเห็นแผน PDP 2024 จี้ลดค่าไฟฟ้า พลังงานแจงสัดส่วนไฟฟ้า กฟผ. ปลายแผนฯ เหลือ 17%

Screenshot
- Advertisment-

ภาคเอกชนกว่า 250 คน เข้าร่วมรับฟังความเห็นต่อ “ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024)” และ ร่าง Gas Plan คึกคัก ทีมพลังงานแจงทุกประเด็น เผยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. จะลดจากปัจจุบัน 29% เหลือ 17% หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผนฯ ปี 2580 ย้ำการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ลดการใช้ก๊าซฯ พร้อมเติมไฮโดรเจน และนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ในแผน PDP 2024 ได้พิจารณาจากหัวใจหลัก 3 ด้าน คือ ความมั่นคงไฟฟ้าประเทศ ราคาเหมาะสม และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันที่ 13 มิ.ย. 2567 กระทรวงพลังงานได้เปิดรับฟังความเห็น “ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024)” และ “ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024)” เป็นครั้งที่ 2 โดยเน้นในกลุ่มภาคเอกชนเป็นหลัก มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังความเห็นกว่า 250 คน  อาทิ ตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม, กลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวล, กลุ่มก๊าซชีวภาพไทย, สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) และตัวแทนจากบริษัทด้านพลังงานต่างๆ

โดยภาคเอกชนได้สอบถามและแสดงความเห็นในหลายประเด็นของร่างแผน PDP 2024 และร่างแผน Gas Plan 2024 โดยเฉพาะกรณีการกำหนดสัดส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และภาคเอกชน ที่ยังไม่มีความชัดเจน รวมทั้งกรณีต่างๆ ดังนี้ มีการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่สูงเกินไป และต้องการให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเหลือแค่ 3.50 บาทต่อหน่วย, การกำหนดปริมาณการลดการใช้ไฟฟ้าภาคสมัครใจ (Demand response) ต่ำเกินไป, การจัดทำ PDP 2024 ใช้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเกินไป ซึ่งส่งผลต่อการคำนวณจำนวนโรงไฟฟ้าที่มากขึ้นและทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น รวมถึงกังวลว่าได้จัดทำแผน PDP 2024 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้พิจารณาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของภาครัฐและเอกชนอย่างเหมาะสมหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องการเห็นแผนงานรายละเอียดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นต้น

- Advertisment -

 สำหรับการชี้แจงข้อสงสัยต่อภาคเอกชนในครั้งนี้ นำทีมโดย นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งได้ชี้แจงแต่ละประเด็นคำถามที่สำคัญโดยระบุว่า จากร่างแผน PDP 2024 นี้ จะส่งผลให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอยู่ 29% จะเหลือ 17% หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผนฯ ปี 2580 ส่วนที่เหลือเป็นการผลิตไฟฟ้าในภาคเอกชนและนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดชัดเจนว่าจะจัดสรรอย่างไร แต่ไม่ได้ตัดโอกาส กฟผ. หากมีความพร้อมก็สามารถเข้าแข่งขันได้ รวมทั้งการจัดทำแผน PDP 2024 ในครั้งนี้ได้คำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้พิจารณาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.และภาครัฐให้เหมาะสมแล้ว โดยการจัดทำแผนฯ ได้คำนึงถึงความมั่นคงไฟฟ้าประเทศเป็นหลัก

ส่วนกรณีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน PDP 2024 ที่ 3.8704 บาทต่อหน่วย ซึ่งภาคเอกชนมองว่าสูงเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.85 บาทต่อหน่วย ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 3.50 บาทต่อหน่วย และต้องการให้ไทยปรับอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเหลือ 3.50 บาทต่อหน่วยนั้น ยอมรับว่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อัตราค่าไฟฟ้าไทยสูงกว่า แต่การจัดทำแผน PDP 2024 ต้องคำนึงถึงความมั่นคงไฟฟ้าระยะยาว รวมถึงการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้เป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่ไทยให้ไว้บนเวทีโลกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม สนพ. จะรับข้อเสนอไปพิจารณาปรับปรุงในแผน PDP 2024 ต่อไป

สำหรับกรณีแผน PDP 2024 กำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจาก 36% เป็น 51% หรือจำนวน 34,851 เมกะวัตต์  โดยลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลงจาก 51% เหลือ 40% ซึ่งได้พิจารณาทั้งมิติของความมั่นคงด้านไฟฟ้า ราคาค่าไฟฟ้าและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ที่ต้องสมดุลกัน

ทั้งนี้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าก๊าซฯ เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าประเทศ และใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้คุ้มค่า ส่วนการบริหารความเสี่ยงด้านราคานั้น ก็ได้ลดการนำเข้าก๊าซฯ จากต่างประเทศลง และใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้ามาทดแทน รวมถึงการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศที่เน้นไฟฟ้าพลังน้ำ เนื่องจากต้นทุนไม่สูงเกินไป โดยการจัดหาไฟฟ้าต่างประเทศได้กำหนดสัดส่วนไว้ให้อยู่ในระดับ 11-13% จากเดิมมีสัดส่วนถึง 15% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาไฟฟ้าจากต่างประเทศมากเกินไป

อย่างไรก็ตามในแผน PDP 2024 ได้บรรจุเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับผสมกับเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในสัดส่วน 5% ซึ่งลดลงจากในแผน PDP เดิม เนื่องจากหากสัดส่วนมากกว่า 5% จะส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าให้เกิน 4 บาทต่อหน่วยได้ แต่ในอนาคตหากราคาไฮโดรเจนถูกลง ก็อาจปรับแผนเพิ่มสัดส่วนการใช้ได้มากขึ้น

ส่วนการกำหนดเป้าหมายการลดการใช้ไฟฟ้าภาคสมัครใจหรือ Demand response ไว้ที่ 2,000 เมกะวัตต์ นั้น ได้พิจารณาจากศักยภาพการลดใช้ไฟฟ้าในต่างประเทศที่ทำได้ 1-5% ของยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (PEAK) เมื่อเทียบกับไทยจึงเห็นว่า ไทยจะมีศักยภาพทั้งสิ้น 2% ในปัจจุบัน แต่ในอนาคตก็อาจจะเพิ่มปริมาณขึ้นได้

อย่างไรก็ตามในส่วนของการกำหนดปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผนฯ ปี 2580 นั้น ในปี 2567 นี้ ภาครัฐจะต้องเริ่มเตรียมพิจารณาด้านกฎระเบียบ กฎหมาย และเลือกพื้นที่ในการก่อสร้าง เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาเป็น 10 ปีกว่าจะสร้างได้

สำหรับในส่วนของแผน Gas Plan ได้เฉลี่ยราคา Pool Price ตลอดแผนไว้ที่ 280-310 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งการใช้ก๊าซฯ จะขึ้นอยู่กับการผลิตไฟฟ้าของแผน PDP 2024 เป็นหลัก ปัจจุบันไทยมีการจัดเก็บก๊าซฯ 19 ล้านตันต่อปีเพียงพอกับความต้องการใช้ แต่ในอนาคตจะไม่พอและต้องสร้างคลังเก็บก๊าซฯ เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับก๊าซฯ อีก 10.8 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตามภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นแผน PDP และแผน GAS ดังกล่าวตามขั้นตอนแล้ว คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับต่อไป คาดว่าจะประกาศใช้แผน PDP2024 ได้ภายในเดือน ก.ย. 2567 นี้

Advertisment

- Advertisment -.