เสนอ3แนวทางตั้งโรงงานต้นแบบเชื้อเพลิงขยะRDF

3781
- Advertisment-

เสนอ3แนวทางตั้งโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel หรือ  RDF)โดยมีแนวโน้ม เลือกรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พร้อมพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้า SPP รองรับเชื้อเพลิง RDF ที่ผลิตได้  นัดประชุมอีกรอบเดือน ก.ค. 2562 คาดได้ข้อสรุปและจัดทำรายงานเสนออนุกรรมการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ในเดือนพ.ย. 2562 นี้

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมศึกษาการจัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel หรือ  RDF) ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นต้น  เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา โดย พพ. มีการนำเสนอ 3 แนวทาง สำหรับการจัดตั้งโรงงานผลิต RDF ได้แก่

1.ให้หน่วยงานภาครัฐ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ดำเนินการจัดตั้งโรงคัดแยกขยะ และโรงผลิต RDF เองทั้งหมด

- Advertisment -

2.ให้เอกชนและภาครัฐร่วมลงทุนโรงคัดแยกขยะ และโรงผลิต RDF แต่ให้ อบต.ต่างๆจัดส่งขยะให้ ซึ่งรูปแบบนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีปริมาณขยะไม่มากนัก
และ 3. ให้เอกชนและภาครัฐร่วมลงทุนโรงคัดแยกขยะ และโรงผลิต RDF แต่ให้ อบต.ที่มีการจัดแบ่งงานเป็นหลายคลัสเตอร์ ดำเนินการเป็นแม่ข่ายรวบรวมขยะแล้วจัดส่งให้โรงคัดแยกขยะ และโรงหีบ RDF ต่อไป ซึ่งรูปแบบนี้เหมาะกับพื้นที่ที่มีบ่อขยะจำนวนมาก เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต เป็นต้น

โดยที่ประชุมมีแนวโน้มจะเลือกแนวทางที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นการร่วมดำเนินการระหว่างภาครัฐและเอกชน จึงคล่องตัวกว่าการดำเนินการโดยภาครัฐทั้งหมด นอกจากนี้มีการพิจารณาว่าควรสร้างความต้องการใช้ RDF ให้เกิดขึ้นด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP)ตามพื้นที่ที่มีโรง RDF อยู่  เนื่องจากปัจจุบันเชื้อเพลิง RDF ยังมีราคาสูง หากนำไปจำหน่ายให้โรงไฟฟ้า SPP ที่เดินเครื่องอยู่ในปัจจุบัน หรือโรงงานปูน ถือเป็นเรื่องยาก เพราะSPPต่างมีเชื้อเพลิงที่ราคาถูกกว่า RDF อยู่แล้ว และโรงงานปูน สามารถจัดหา RDF ได้ในราคาถูกอยู่แล้ว ทั้งนี้ในส่วนของการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้RDF เป็นเชื้อเพลิงนั้น เป็นเรื่องของเอกชนที่ต้องดำเนินการเอง

อย่างไรก็ตามที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปที่จัดเจน เพราะต้องรอความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะประชุมร่วมกันอีกครั้งในเดือน ก.ค.2562 นี้ โดยจะมีหน่วยงานจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมประชุมด้วย เพื่อหาข้อสรุปว่า จะเลือกรูปแบบใดในการจัดตั้งโรง RDF และเลือกพื้นที่ใดเพื่อดำเนินการบ้าง เป็นต้น ทั้งนี้คาดว่าการประชุมครั้งต่อไปจะได้ข้อสรุปทั้งหมด จากนั้น พพ. จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อจัดทำเป็นรายงาน เสนอต่ออนุกรรมการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ในเดือนพ.ย. 2562 นี้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำหรับการศึกษาดังกล่าว เกิดขึ้นจาก คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้ พพ. ไปดำเนินการส่งเสริมชุมชนตั้งโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel หรือ  RDF) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยจัดการปัญหาขยะชุมชนและสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน

โดยขณะนั้นคณะกรรมการกองทุนฯ มีมติให้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวภายใน 6 เดือน ใช้งบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2562 (รอบ2) ภายในวงเงิน 100 ล้านบาท

สำหรับขยะ RDF คือ การนำขยะมูลฝอยที่ผ่านการคัดแยกแล้ว มาผ่านกระบวนการแปรรูปและจัดการต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมี ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงขยะ

Advertisment