เสนอ กบน.ยกเลิกดีเซลB20 เหตุยอดใช้น้อย และกองทุนน้ำมันแบกภาระชดเชยราคา

2502
- Advertisment-

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เตรียมเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ปลายเดือน ก.พ. 2564 พิจารณาแผนปรับลดการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพให้เสร็จภายในปี 2565 เล็งยกเลิกน้ำมัน B20 อันดับแรก เหตุยอดใช้น้อยเพียง 1 ล้านลิตรต่อวัน ขณะยอดขายดีเซลรวมอยู่ 60 ล้านลิตรต่อวัน แถมกองทุนฯต้องนำเงินไปชดเชยถึง 4.16 บาทต่อลิตร ชี้หาก กบน.อนุมัติจะเริ่มกระบวนการทยอยยกเลิกการใช้ได้ตั้งแต่ มี.ค. 2564 เป็นต้นไป เสร็จปลายปี 2565

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ช่วงปลายเดือน ก.พ. 2564 นี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เตรียมเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน พิจารณาแผนปรับลดการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพให้เสร็จภายในปี 2565 โดยจะมีการนำเสนอในหลายแนวทาง เบื้องต้นจะดำเนินการไปพร้อมกันทั้งกลุ่มดีเซลและเบนซิน เพื่อให้สิ้นสุดการชดเชยราคาทั้งหมดในปี 2565 ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หากผ่านการอนุมัติจะเริ่มดำเนินกระบวนการตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564 และเชื่อว่าจะยกเลิกการชดเชยได้หมดในปลายปี 2565 ได้ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กบน.ที่ต้องพิจารณาปัจจัยด้านเศรษฐกิจและผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ด้วย

สำหรับในกลุ่มดีเซลนั้น หนึ่งในแนวทางที่ สกนช.จะเสนอคือ การยกเลิกจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลB20(น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์20% ในทุกลิตร) เป็นอันดับแรก เนื่องจากพบว่ามียอดจำหน่ายน้อยที่สุดในกลุ่มดีเซลและกองทุนฯใช้เงินเข้าไปพยุงราคามากที่สุด

- Advertisment -

โดยยอดจำหน่ายดีเซลรวมเฉลี่ย 60 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็น B20 มียอดขายรวมเพียง 1.08 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนน้ำมันดีเซล (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10% ในทุกลิตร) มียอดขายรวม 20 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ B7(น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7%ในทุกลิตร) มียอดขายรวมมากที่สุดถึง 43 ล้านลิตรต่อวัน

ส่วนกองทุนน้ำมันฯ ต้องนำเงินไปชดเชย B20 ถึง 4.16 บาทต่อลิตร ซึ่งหากไม่ชดเชยเลยราคาจำหน่ายอาจขยับขึ้นถึง 26 บาทต่อลิตรได้ ส่วนดีเซลชดเชยอยู่ 2.50 บาทต่อลิตร ขณะที่B7 เป็นการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ 1 บาทต่อลิตร ดังนั้นขณะนี้ B7 เป็นน้ำมันหลักที่ทำให้กองทุนฯยังมีเงินไหลเข้า

แต่การชดเชยราคาน้ำมันทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซลทำให้กองทุนมีเงินไหลออกตลอดทุกเดือน โดยจากการตรวจสอบข้อมูลของ สกนช.เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ยังมีการนำเงินไปชดเชยราคาน้ำมันโดยรวมอยู่ที่ 800 ล้านบาทต่อเดือน แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2564 พบว่ายอดชดเชยน้ำมันปรับลดลงอย่างมากเหลือเพียงเฉลี่ย 390 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใช้น้ำมันดีเซลหันกลับไปใช้B7 มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกรมธุรกิจพลังงานถึงสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

การยกเลิก B20 เป็นแนวทางที่ส่งผลดีต่อกองทุนฯ ทำให้ไม่ต้องนำเงินไปชดเชยถึง 4.16 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่ายน้ำมันก็เห็นดีด้วย เนื่องจากช่วยลดต้นทุนและลดชนิดน้ำมันในปั๊มลงได้ โดยการยกเลิกอาจใช้วิธีทยอยเลิกชดเชยราคาลง รวมถึงอาจจะลดการชดเชยดีเซลลงครึ่งหนึ่งจาก 2.50 บาทต่อลิตร แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วย

นอกจากนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100% หรือ B100 ก็ปรับตัวสูงขึ้นมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 42.85 บาทต่อลิตร จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 30 บาทต่อลิตรในปี 2563 ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาน้ำมันกลุ่มดีเซลเช่นกัน โดย
ราคาจำหน่ายB20 ปัจจุบันอยู่ที่22.74 บาทต่อลิตร เท่ากับกองทุนฯต้องนำเงินไปชดเชยราคามากขึ้นเพื่อให้ราคาจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 22.74 บาทต่อลิตรได้ ดังนั้นถ้าเลิกชดเชยB20 ได้จะทำให้กองทุนฯลดปัญหาเงินไหลออกลงได้มาก

ด้านกรมธุรกิจพลังงานยืนยันว่า จะไม่มีการปรับลดสัดส่วนการผสม B100 ในน้ำมันดีเซลแน่นอน (ปัจจุบันน้ำมันดีเซลมีสัดส่วนการผสมB100 อยู่ที่ 10% ในทุกลิตร ) และได้ยกเลิกวิธีการปรับลดสัดส่วน B100 ในกรณีราคาน้ำมันปาล์มแพงแล้ว โดยกลไกตลาดจะทำให้ผู้ค้าน้ำมันลดการจำหน่ายน้ำมันที่ผสมB100 จำนวนมากออกไปแทน เช่น น้ำมัน B20 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 20% ในทุกลิตร) และ B20 จะเป็นน้ำมันกลุ่มดีเซลชนิดแรกที่จะต้องถูกพิจารณาให้ยกเลิกนำออกไปจากระบบ เนื่องจากรัฐต้องนำเงินไปชดเชยราคาจำนวนมาก อีกทั้งยอดการใช้ยังไม่สูงเพราะประชาชนไม่นิยม

สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบัน(24 ม.ค. 2564) เหลือเงินสุทธิ 26,168 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 35,845 ล้านบาท และบัญชีLPG ติดลบ 9,677 ล้านบาท โดยกองทุนฯมีเงินไหลออกประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อเดือน จากการชดเชยราคาน้ำมัน 390 ล้านบาทต่อเดือนและชดเชยราคาLPG 800 ล้านบาทต่อเดือน

Advertisment