เสนอ กกพ.กำหนดสัดส่วนใช้RDFจากขยะชุมชนในโรงไฟฟ้าชีวมวล25%

2422
- Advertisment-

นายกสมาคมการค้าพลังงานขยะ เสนอ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ให้กำหนดใช้ เชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel) หรือRDF มาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล ในสัดส่วน 25% เชื่อช่วยเสริมรายได้ชุมชนและลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า

นายมนตรี วิบูลย์รัตน์ นายกสมาคมการค้าพลังงานขยะ เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้เข้าหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ถึงข้อเสนอโครงการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงขยะ(RDF)เชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น ด้วยการนำไปเป็นเชื้อเพลิงเสริมให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลในสัดส่วนไม่เกิน 25% ของเชื้อเพลิงชีวมวลที่ใช้อยู่ เพื่อก่อให้เกิดการคัดแยกขยะในการกำจัดขยะชุมชนได้อย่างรวดเร็วแล้วยังส่งเสริมให้ชาวบ้านและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้การส่งเสริม โรงไฟฟ้าชีวมวลที่ผ่านมานั้น จะใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลัก ต่อมาเมื่อแกลบมีราคาแพง รัฐก็ส่งเสริมไม้สับหรือ Wood Chip  เพิ่มขึ้น แต่ก็พบว่ามีปัญหาราคาวัตถุดิบราคาแพงมาก โดยบางช่วงขึ้นไปถึง 1,400 บาทต่อตันจากเฉลี่ย 500 บาทต่อตัน ดังนั้น การนำ RDF จากขยะชุมชนมาเสริมเป็นเชื้อเพลิงก็จะช่วยได้ในเรื่องของต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากลดปริมาณขยะชุมชน

- Advertisment -

ปัจจุบัน RDF ส่วนใหญ่ที่เป็นเกรดคุณภาพสูงจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์  และบางส่วนก็ป้อนให้กับโรงไฟฟ้าขยะ  ส่วนRDF ที่เกิดจากชุมชนเอง ถ้าจะจำหน่าย จะต้องขนส่งไปป้อนโรงงานซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป ไม่สะดวก ดังนั้น การนำมาเสริมเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลจะทำให้สามารถลดต้นทุนและทำให้โอกาสของชาวบ้านที่จะจำหน่าย RDF หรือธุรกิจชุมชนเกิดขึ้นได้

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการค้าพลังงานขยะ กล่าวว่า  ก่อนหน้านี้ทางสมาคมฯได้ยื่นหนังสือถึง กกพ. เพื่อให้พิจารณาการส่งเสริมให้เกิดการใช้ RDF ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น

โดย ตามการศึกษาของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ร่วมกับคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ยืนยันว่าปริมาณ RDF ที่ใช้ในโรงปูนซิเมนต์และโรงไฟฟ้าขยะในไทยไม่เพียงพอ จึงควรยกระดับ RDF ให้เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น และล่าสุดทางกกพ.ได้เรียกหารือและเห็นชอบในหลักการ แต่ขอให้ไปทำรายละเอียดมาอีกครั้งว่าจะต้องเป็นที่ยอมรับของชุมชน และไม่เกิดปัญหาการแย่งชิงขยะในอนาคต

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และในฐานะคณะทำงานกลั่นกรองกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า จากมติกรณีวงเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2562(รอบ2) ที่เหลืออยู่ 2,500 ล้านบาท ซึ่งจะมอบให้กระทรวงมหาดไทยนำไปใช้สำหรับส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)สร้างระบบคัดแยกขยะชุมชนครบวงจร สำหรับนำขยะมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงในรูปแบบไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดลักษณะรูปแบบโครงการว่าจะเป็นแบบไหน ซึ่งต้องหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เสียก่อน

สำหรับมติ ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2562 ที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงการอนุมัติกรอบวงเงินสำหรับส่งเสริมโครงการต่างๆ ภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2562 เป็นวงเงิน 6,800 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้สรุปรายละเอียดโครงการที่จะเข้าร่วม ซึ่งขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองกำลังเร่งพิจารณาแต่ละโครงการอยู่

สำหรับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2562(รอบ2) มีวงเงินรวม 9,300 ล้านบาท แต่บอร์ดกองทุนฯ อนุมัติกรอบวงเงินไว้ที่ 6,800 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 2,500 ล้านบาท จะนำไปหารือกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำไปใช้ส่งเสริมการคัดแยกขยะชุมชนแบบครบวงจรสำหรับเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและก๊าซชีวภาพ

Advertisment