เสนอใช้เวทีรัฐสภาเป็นทางออก เดินหน้าเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ไทย-กัมพูชา

150
- Advertisment-

ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 กำลังจะกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองสำหรับปีหน้า เมื่ออดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสนธิ ลิ้มทองกุล ใช้เรื่องดังกล่าว ปลุกเร้ามวลชนและรุกไล่รัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ด้วยวาทกรรม “เอ็มโอยูขายชาติ” อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้ที่ศึกษาด้านการเมืองระหว่างประเทศและทำความเข้าใจเรื่องเอ็มโอยู 2544 และพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ไทยกับกัมพูชา( Overlapping Claims Area หรือ OCA) มาเป็นอย่างดี เช่น นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิชาการอิสระ และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กลับเห็นว่า เอ็มโอยู 2544 ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องชั่วร้ายตามข้อกล่าวหาของกลุ่มที่เรียกร้องให้ยกเลิกนั้นอ้างแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้อ่านเนื้อความทั้งหมดของเอ็มโอยู ที่มีอยู่เพียง 3 หน้า ก็จะเข้าใจว่า เอ็มโอยู 2544 นั้นเป็นแต่เพียงกรอบแนวทางของการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา ที่ยังไม่ได้มีข้อตกลงร่วมกัน และยังไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนใดๆ ที่จะบอกว่าเป็นเรื่องการขายชาติ

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการยุติความขัดแย้งในสังคมระหว่างรัฐบาลและกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการยกเลิกด้วยวิธีที่ดีที่สุดนั้น ทั้งนายสุภลักษณ์ และ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนในบทบาทของผู้นำฝ่ายค้านมีข้อเสนอไปในแนวทางเดียวกัน ที่จะให้ใช้เวทีรัฐสภาเป็นทางออกของเรื่องดังกล่าว โดยอาจจะเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรืออาจจะเสนอให้มีการอภิปรายโดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 155 ก็ได้

โดยนายสุภลักษณ์ ให้เหตุผลสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวว่า มาตรา 178เป็นการเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ กับ เอ็มโอยู 2544 ซึ่งรัฐบาลอาจจะเสนอการตั้งคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิค เข้าไปพร้อมกันก็ได้ ซึ่งตามมาตราดังกล่าว รัฐสภาจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่อง เพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ

- Advertisment -

เขามองว่า การใช้เวทีรัฐสภาที่ประกอบด้วย สส. และวุฒิสมาชิกที่เป็นตัวแทนของประชาชน ตามมาตรา 178 จะทำให้ เอ็มโอยู 2544 และ คณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยที่สภาให้ความเห็นชอบ จะมีความชอบธรรมมากขึ้นในการเดินหน้าเจรจากับฝ่ายกัมพูชา โดยที่ไม่ต้องกังวลใจกับข้อกล่าวหาเรื่องขายชาติ ในขณะที่การใช้มาตรา 155 ที่เสนอโดยผู้นำฝ่ายค้าน จะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคฝ่ายค้านได้อภิปรายในประเด็นที่เป็นข้อกังวลและห่วงใยได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่มีการลงมติ ซึ่งก็จะช่วยลดความขัดแย้งลงได้เช่นเดียวกัน

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิชาการอิสระ และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร

นายสุภลักษณ์ กล่าวถึง ข้อเรียกร้องของกลุ่มที่คัดค้านที่ให้ยกเลิกเอ็มโอยู2544 ด้วยว่า เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีพลัง และย้อนแย้งกันเอง จึงไม่สามารถที่จะโน้มน้าวให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นแนวร่วมได้ เพราะคนรุ่นใหม่นั้นเชื่อมั่นในเหตุและผล โดยเฉพาะหากใครได้อ่านเนื้อหาที่เขียนในเอ็มโอยูทั้งหมด และได้อ่านอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 (UNCLOS) ที่มีการแปลเป็นภาษาไทย โดยสามารถค้นหาอ่านได้จากการพิมพ์ข้อความเข้าไปใน Google ก็จะมีความเข้าใจในข้อเท็จจริงว่าพื้นที่อ่าวไทยนั้นแคบ เมื่อทั้งไทยและกัมพูชาต่างมีสิทธิตาม UNCLOS ในการลากเส้นออกไปประเทศละ 200 ไมล์ทะเล การที่มีพรมแดนติดกันอย่างไรเสียก็ต้องเกิดพื้นที่อ้างสิทธิที่ทับซ้อนกัน ดังนั้นเมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับในเส้นอ้างสิทธิของกันและกัน จึงต้องมีการเจรจากัน โดยมีการจัดทำเอ็มโอยู 2544 ขึ้นมาเป็นกรอบแนวทางในการเจรจา เพื่อให้ตกลงกันให้ได้  

“ แกนนำกลุ่มคัดค้านที่ออกมาพูดเรื่องเอ็มโอยู 2544 ว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย ขายชาติก็อาจจะได้กลุ่มผู้ฟังที่พร้อมจะเชื่อและเป็นแนวร่วมอยู่ในวงจำกัด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแฟนกลุ่มเดิมอยู่แล้วไม่ใช่คนกลุ่มใหม่ ส่วนพรรคการเมืองที่คัดค้านก็คือพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก็เป็นพรรคที่ยอมรับเอ็มโอยูนี้มาตลอด โดยมีการตั้งพลเอกประวิตร เป็นประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค คนทั่วไปจึงตั้งคำถามและมีข้อสงสัยว่า ทำไมเมื่อพรรคพลังประชารัฐเปลี่ยนมาเป็นพรรคฝ่ายค้าน เอ็มโอยูนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายขึ้นมาได้ ” นายสุภลักษณ์ กล่าว

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว ในงานสัมมนาโครงการเสริมศักยภาพ สส.

ในขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวตอบคำถามของ สส. ในงานสัมมนาโครงการเสริมศักยภาพ สส. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 โดยสรุปสาระสำคัญว่า เอ็มโอยู 2544 เป็นเพียงข้อตกลงที่ทั้งสองประเทศจะคุยกันในเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ เพราะมีเส้นเขตแดนทางทะเลที่ไม่ตรงกันระหว่างไทยกับกัมพูชา

ส่วนเรื่องเกาะกูด นั้นเป็นของไทยมานานแล้ว และอยู่ในสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ในสมัยที่ยังยึดครองประเทศกัมพูชา โดยระบุว่าเกาะกูดเป็นของไทย เกาะกงเป็นของกัมพูชา

“ ปัญหาคือ ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้าจะไม่สามารถใช้ได้ เพราะคนกำลังเรียกหาพลังงานสีเขียว เลิกใช้พลังงานที่เกิดจากฟอสซิล เพราะฉะนั้นอีก 20 ปีต่อไป เราอาจจะต้องทิ้งทรัพย์สินตรงนี้ที่มีมูลค่าประมาณ 4 ล้านล้านบาท จึงต้องตกลงกัน 2 อย่างคือ 1. ผลประโยชน์ทางทะเล 2. เส้นเขตแดน ” นายทักษิณ ชี้ให้เห็นหัวใจสำคัญของเรื่อง

ข้อมูลประกอบบทความ

มาตรา 178  พระมหากษัตริย์ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ  สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ  

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือ จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่องหากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ

หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมหรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสองได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วมหรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมด หรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

ให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย

เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใด เป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ

มาตรา 155 ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศสมควรที่จะปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้ ในกรณีนี้ประธานรัฐสภาต้องดำเนินการให้มีการประชุมภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง แต่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้

การประชุมตามวรรคหนึ่งให้ประชุมลับและคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุมด้วย

Advertisment