เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว​ การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปีแรก​ โต​ร้อยละ​ 2.7

165
N4431
- Advertisment-

กรมธุรกิจพลังงานเผยสถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปีแรก ปี 2566 โตร้อยละ​2.7 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว

นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปีแรก ของปี 2566 (เดือนมกราคม – มิถุนายน) เฉลี่ยอยู่ที่ 156.74 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.7 และคาดว่าภาพรวมทั้งปีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

โดยครึ่งปีแรก การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.96 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.9 การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 72.30 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.7 เนื่องด้วยปัจจัยด้านราคา ทั้งนี้ ภาครัฐยังคงมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลอย่างต่อเนื่อง โดยภายหลังจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาท/ลิตร สิ้นสุดลงในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ก็จะอาศัยกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมารักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.45 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 80.9 จากการฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เฉลี่ยอยู่ที่ 17.69 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.4 โดยส่วนใหญ่มาจากการใช้ที่ลดลงในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีร้อยละ 4.2

- Advertisment -

กรมคาดการณ์ว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงครึ่งปีหลัง จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2​ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการปรับตัวของธุรกิจที่พึ่งพาการขนส่งมากขึ้น โดยน้ำมันกลุ่มเบนซินจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 น้ำมันดีเซลปรับลดลงร้อยละ 1.9 น้ำมัน JET A1 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 และ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 โดยการคาดการณ์ของกรมยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กรมยังคาดว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยปี 2566 ในภาพรวมยกเว้นน้ำมัน JET A1 จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เนื่องจากธุรกิจการบินอยู่ระหว่างการฟื้นตัว และการเติบโตของเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลดการเดินทางไกลลง


Advertisment