เศรษฐกิจเริ่มฟื้น​ สนพ. เผยยอดใช้พลังงานขั้นต้นครึ่งปีแรกของปี 66 เพิ่มขึ้น 2.5%

569
- Advertisment-

สนพ. เผยยอดใช้พลังงานขั้นต้นครึ่งปีแรกของปี 66 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น​ โดยการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า ลดลงร้อยละ 10.7 และการใช้ถ่านหินลดลงร้อยละ​ 7.4

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานครึ่งปีแรกของปี 2566 พบว่า ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้นมีปริมาณการใช้ อยู่ที่ระดับ 2,059 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 และการใช้ก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 7.0 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์และใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความต้องการไฟฟ้าในสาขาท่องเที่ยวและบริการที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ในขณะที่การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า ลดลงร้อยละ 10.7 จากปริมาณการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำที่ลดลงเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้น้ำเหนือเขื่อนของ สปป.ลาว มีปริมาณน้อยลง สำหรับการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ปรับตัวลดลงจากการใช้ที่ลดลงทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรม โดยการใช้ถ่านหินลดลงร้อยละ 7.4 และการใช้ลิกไนต์ลดลงร้อยละ 6.3 โดยสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 สรุปได้ดังนี้

การใช้น้ำมันสำเร็จรูป มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 142.6 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 โดยการใช้น้ำมันดีเซล อยู่ที่ 72.3 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากครึ่งปีแรกของปีก่อน ร้อยละ 3.7 การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ อยู่ที่ 31.5 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกของปีก่อน ร้อยละ 6.2 การใช้น้ำมันเครื่องบิน อยู่ที่ 13.7 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการใช้น้ำมันเตา อยู่ที่ 6.1 ล้านลิตรต่อวัน ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

- Advertisment -

การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 3,264 พันตัน ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้จำแนกเป็น การใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 43 มีการใช้ลดลงร้อยละ 4.1 ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 11 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ภาคครัวเรือน มีสัดส่วนร้อยละ 31 มีการใช้ลดลงร้อยละ 1.7 ขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ สัดส่วนร้อยละ 14 การใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่ให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นมา

ก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 4,435 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 โดยมาจากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ (NGV) ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 จากการที่ภาครัฐยังคงมาตรการตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปอยู่ที่ 17.59 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2565 ถึง 15 มิถุนายน 2566 ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 4.0 และ 6.1 ตามลำดับ ซึ่งมาจากความต้องการสินค้าและบริการของโลกที่ลดลง โดยสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เฉลี่ยของครึ่งปีแรกที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ถ่านหิน/ลิกไนต์ มีการใช้รวมทั้งสิ้นอยู่ที่ระดับ 7,820 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) ลดลงร้อยละ 7.2 สำหรับการใช้ลิกไนต์ อยู่ที่ 1,629 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) ลดลงร้อยละ 6.3 ทั้งนี้สัดส่วนการใช้ลิกไนต์ร้อยละ 99 เป็นการใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีการใช้ลดลงร้อยละ 2.2 สำหรับสัดส่วนการใช้ลิกไนต์ที่เหลือร้อยละ 1 ถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม การผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งการใช้ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงร้อยละ 81.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามปริมาณการผลิตลิกไนต์ในประเทศ เนื่องจากการหมดอายุสัมปทานของเหมืองบริษัทเอกชน

การใช้ไฟฟ้า อยู่ที่ 101,043 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 โดยมาจากการใช้ไฟฟ้าในส่วนของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายการเปิดประเทศในหลายประเทศ ซึ่งส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 9.3 โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าในสาขาโรงแรม อะพาร์ตเมนต์ และเกสต์เฮาส์ ส่วนการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.8 จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกหดตัวลง สำหรับการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 และสาขาอื่น ๆ (องค์กรไม่แสวงหากำไร สูบน้ำเพื่อการเกษตร ไฟฟ้าชั่วคราว และไฟฟ้าสาธารณะ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ทั้งนี้ ในปี 2566 มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดของระบบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 เวลา 21.41 น. อยู่ที่ระดับ 34,827 MW เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน

นายวัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2566 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.0 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 77.0 – 87.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้คาดการณ์ความต้องการพลังงานขั้นต้นของปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2,033 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 การใช้น้ำมัน คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 836 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 การใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 813 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ จะอยู่ที่ระดับ 322 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงร้อยละ 5.4 และคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 201,913 ล้านหน่วย (GWh) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังคงติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมทั้งราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงานในอนาคตต่อไป

Advertisment