หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์วันที่ 5 – 9 ก.พ. 67 และแนวโน้มในสัปดาห์วันที่ 12 – 16 ก.พ. 67 ว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ส่งผลกดดันราคาน้ำมัน ขณะที่สถานการณ์ในตะวันออกกลางยังไม่มีท่าทีคลี่คลาย
- อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว โดย EIA ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2567 โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 102.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลง 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อน)
- เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง และอัตราเงินเฟ้อในจีนต่ำสุดในรอบ 14 ปี ส่งสัญญาณเงินฝืด โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ในเดือน ม.ค. 67 อยู่ที่ -0.80% จากปีก่อนหน้า ต่ำสุดในรอบ 14 ปี
- สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังไม่มีท่าทีคลี่คลาย และการเจรจาหยุดยิงยังไม่ประสบความสำเร็จนายกรัฐมนตรีอิสราเอล นาย Benjamin Netanyahu ปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงของกลุ่มฮามาสที่ยื่นข้อเสนอหยุดยิงเป็นเวลา 4 เดือนครึ่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะละ 45 วัน โดยมีกาตาร์และอียิปต์เป็นตัวกลางในการเจรจากับสหรัฐฯ และอิสราเอล
- วันที่ 10 ก.พ. 67 อิสราเอลโจมตีทางอากาศ (Air Strike) ที่เมือง Rafah เป็นครั้งที่ 2 (หลังการโจมตีครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 67) ซึ่งอยู่ทางใต้ของฉนวนกาซาติดกับชายแดนอียิปต์และเป็นพื้นที่หลบภัยแห่งสุดท้ายของชาวปาเลสไตน์ผู้พลัดถิ่นจำนวนมาก ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 44 ราย และอิสราเอลจะโจมตีภาคพื้นดิน (Ground Invasion) ในเมือง Rafah เร็วๆ นี้ ทั้งนี้ หลายประเทศ อาทิ อียิปต์ กาตาร์ และสหรัฐฯ ออกมาเตือนอิสราเอลว่าหากทำการโจมตีภาคพื้นดินจะมีผลร้ายแรงตามมา
- ด้านสหรัฐฯ ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในอิรัก สังหารหัวหน้ากองกำลังติดอาวุธ Kata’ib Hezbollah ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านซึ่งสหรัฐฯ ระบุเป็นปฏิบัติการตอบโต้การโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ บริเวณชายแดนจอร์แดน-ซีเรีย ที่ทหารสหรัฐฯ 3 นายเสียชีวิตเมื่อเดือน ม.ค. 67
Advertisment