เวทีประชุมSOME เตรียมถกขยายกรอบซื้อไฟ ลาว-ไทย-มาเลเซีย เพิ่มเป็น300เมกะวัตต์

666
- Advertisment-

เวทีประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน( SOME ) ซึ่งจะจัดขึ้นในกรุงเทพ ช่วง วันที่ 24-28 มิถุนายน 2562 นี้ เตรียมถกขยายกรอบพหุภาคีซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง สปป.ลาว –ไทย –มาเลเซีย จาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์  เพื่อให้เกิดการลงนามในข้อตกลงร่วมกันได้ ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน วันที่ 2-6 ก.ย. 2562 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า  ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานและการประชุมเกี่ยวข้อง(SOME)ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 24-28 มิถุนายน 2562 นี้ ณ โรงแรมอนันตรา กรุงเทพฯ จะมีการหารือขยายกรอบพหุภาคีการซื้อขายไฟฟ้าใน “โครงการซื้อขายไฟฟ้า สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM on power Integration Project)” จากกรอบเดิมเมื่อปี 2560-2561 ได้ลงนามตกลงซื้อขายกันที่ 100 เมกะวัตต์  จะขยายกรอบเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ เนื่องจากประเทศมาเลเซียมีความต้องการไฟฟ้าจาก สปป.ลาวมากขึ้น โดยไทยจะเป็นจุดเชื่อมต่อการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างสองประเทศดังกล่าว

อย่างไรก็ตามการซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาขยายสายส่งไฟฟ้าให้รองรับการซื้อขายไฟฟ้าที่มากขึ้นในอนาคต โดยในส่วนของไทยนั้น ทางกระทรวงพลังงานได้ประสานงานร่วมกับ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือการเพิ่มประสิทธิภาพสายส่ง ด้วยการเพิ่มขนาดสายส่งเป็น 500-800 KV ต่อไป

- Advertisment -

โดยการประชุม  SOME  ในปลายเดือนนี้ จะเป็นการประชุมเพื่อจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่จะเริ่มขึ้นในระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน 2562  ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่โรงแรม ดิ แอทธินี  โดยในวันดังกล่าว จะมีการลงนามขยายกรอบการซื้อขายไฟฟ้าของ 3 ประเทศ(สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย) ด้วย

นอกจากนี้จะมีการรายงานประเด็นด้านพลังงานที่ประเทศไทยให้ความสำคัญและเป็นผู้นำในการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในปี 2562 (Priority Deliverables) จำนวน 4 ด้าน 9 ประเด็น โดยสรุปดังนี้

1.ด้านไฟฟ้า ประกอบด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคี 3 ประเทศดังกล่าว และการจัดทำข้อเสนอแนะด้านการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในโครงข่ายอาเซียน (RE Integration to grid) ร่วมกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีอาเซียน

2.ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ประกอบด้วย การจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็นในตลาดอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน การจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (Lab Test) สำหรับทดสอบประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศในครัวเรือน และการศึกษามาตรการด้านการเงิน เพื่อสนับสนุนโครงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน

โดยจะมีการปรับเป้าหมายการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้มากขึ้นจาก 20% เป็น 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในอาเซียน ในปี 2563 เนื่องจากในปี 2561 อาเซียนได้ดำเนินการเกินกว่าเป้าหมายไปอยู่ที่ 21.3% แล้ว นอกจากนี้จะเพิ่มกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้นจากปัจจุบันใช้อยู่ 13% ให้ไปสู่เป้าหมายที่ 23% ให้ได้ในปี 2563

3.ด้านพลังงานทดแทนประกอบด้วย การลงนามความร่วมมือ( MOU) ระหว่าง ศูนย์พลังงานอาเซียน และสถาบันพันธมิตรของอาเซียนเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพอาเซียน และการรายงาน กรณีศึกษาห่วงโซ่อุปทานพลังงานชีวมวลสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพื่อนำไปขยายผลปรับใช้ในพื้นที่ที่มีลักษณะเดียวกันในอาเซียน

  1. ด้านก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย การจัดทำข้อเสนอแนะ เรื่อง การศึกษาโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กเพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติ (Small-scale LNG) ภายใต้ผลการศึกษา Gas Advocacy White Paper

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีประเทศคู่เจรจาที่สำคัญกับอาเซียน อาทิ จีน ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐฯ กลุ่มประเทศความร่วมมือในระดับพหุภาคี ได้แก่ อาเซียนบวกสาม และอาเซียนบวกแปด รวมทั้ง องค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) เป็นต้น

พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กองการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กองการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การซื้อขายไฟฟ้าใน โครงการซื้อขายไฟฟ้า สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย ที่ลงนามความร่วมมือครั้งแรกเมื่อปี 2560-2561 จำนวน 100 เมกะวัตต์นั้น เกิดการซื้อขายไฟฟ้าจริงเพียงกว่า 50% เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของมาเลเซียไม่สูงมากนัก แต่หลังจากมาเลเซียจัดทำแผนการใช้ไฟฟ้าใหม่จึงมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นจึงเห็นด้วยกับการขยายกรอบการซื้อขายไฟฟ้าเป็น 300 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามขณะนี้ทั้ง 3 ประเทศอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงด้านราคาค่าไฟฟ้าระหว่างกันใหม่ เนื่องจากปริมาณการซื้อไฟฟ้าสูงขึ้น ดังนั้นราคาค่าไฟฟ้าอาจจะน่าสนใจมากขึ้นด้วย โดยราคาซื้อขายไฟฟ้าจะยึดตามเกณฑ์ราคาที่ไทยซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว และราคาที่ไทยซื้อจากมาเลเซีย เป็นหลัก

Advertisment